ไม่รู้ว่าจะเป็น ทุกข์ลาภ ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีใหม่ถอดด้ามหรือไม่ ยังไม่ทันไรก็ต้อง เจอความท้าทาย เจอบททดสอบ บางครั้งเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไร ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
อย่างกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีเสนอให้จ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 ครั้ง คือทุกครึ่งเดือน จากเดิมเงินเดือนจะออกทุกสิ้นเดือน ดูเหมือนไม่มีอะไร ให้ข้าราชการได้มีเงินใช้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอนานถึงสิ้นเดือน
ขณะเดียวกันการจ่ายเงินเร็วขึ้น ในระบบเศรษฐกิจก็เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เจตนาคงต้องการให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ กลับกลายเป็น หวังดีแต่ประสงค์ร้าย บรรดาข้าราชการส่วนใหญ่ออกมาค้าน ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะข้าราชการส่วนใหญ่มีภาระหนี้ ทั้งหนี้สหกรณ์ หนี้ธนาคารออมสิน หากแบ่งเป็นสองงวดจะกระทบกับการวางแผนทางการเงินได้
ล่าสุดดูเหมือนว่า คุณเศรษฐาส่งสัญญาณว่าจะยอมถอย ให้กลับไปใช้วิธีจ่ายเงินเดือนละครั้งเหมือนเดิม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่แรงสะท้อนกลับมานั้นแรงกว่าที่คิด เพราะไปกระทบคนส่วนใหญ่ กระทบวิถีชีวิตที่ปฏิบัติกันมานานจนเคยชินเรื่องนี้กลายเป็น “วิบากกรรม” ของนายกรัฐมนตรีใหม่ถอดด้ามอย่างไม่น่าเชื่อ
ก่อนนี้ก็มีเรื่องนโยบายแจกเงินผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” คนละ 1 หมื่นบาท ให้ทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนักการเงินทั้งหลาย เห็นว่าได้คุ้มเสียหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้า อาจจะส่งผลเสถียรภาพการเงินของประเทศได้
ยิ่งกรณีล่าสุดใน การประชุมร่วมกัน ระหว่าง “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี กับ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการประชุม “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้เปิดแถลงข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมกับเล่าบรรยากาศในการประชุมให้นักข่าวฟังว่า ได้แสดงความเห็นแย้งกับนายกรัฐมนตรี ในเรื่องพักหนี้เกษตรกรและรวมถึงกรณีรัฐบาลแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยฉายภาพรวมให้นายกฯเห็น
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยออกมาไม่สวยนัก โดยเศรษฐกิจไตรมาส 2 โตเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ธนาคารคาดไว้มาก ซึ่งการเติบโตมาจากการบริโภคเป็นหลัก ถือว่าฟื้นตัวค่อนข้างดี ทั้งไตรมาส 1 และไตรมาส 2 แต่ที่ขาดคือการลงทุน ดังนั้นจึงจำเป็นฟื้นเศรษฐกิจด้วยภาคอื่น อาจสำคัญกว่าการกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ นโยบายหรือรูปแบบควรทำแบบเฉพาะเจาะจง เฉพาะกลุ่มที่ประหยัดงบประมาณมากกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท”
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า เรื่อง “พักหนี้” ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก ทั้งนี้ มาตรการพักหนี้ได้เห็นประสบการณ์ที่ผ่านมา มีการดำเนินการพักหนี้ 14 ครั้งในรอบ 8 ปี ผลที่ออกมาก็ชัดว่า ไม่ค่อยทำได้ดีขนาดนั้น สัดส่วน 70% ที่เข้าร่วมมาตรการพักมีโอกาสเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซึ่งเห็นว่ามีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ ซึ่งการพักหนี้ไม่ใช่สิ่งที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา
งานนี้ “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ในฐานะคนที่ดูแลแลเรื่องระบบเงินของประเทศ ยิงหมัดตรงแบบไม่อ้อมค้อม แต่ไม่รู้ว่า “คนนั่งหัวโต๊ะ” จะเคลิ้มตามหรือไม่
อันที่จริงหากรัฐบาลจะแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท ทำไมต้องทำอะไรให้ซับซ้อน ทั้งที่นโยบายดีๆ สมัยพรรคไทยรักไทย อย่างกองทุนหมู่บ้าน ที่เป็นประโยชน์กับชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ก็ยังอยู่ รัฐบาลควรจะนำเม็ดเงินจำนวนนี้มาต่อยอดจะดีกว่า คุ้มค่ากว่า
สมมติว่าเอาเงินจำนวน 5 แสนล้านบาทใส่เข้าไปในกองทุนหมู่บ้าน ทั้งหมดมี 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน จะได้หมู่บ้านละ 6 ล้านบาท นึกภาพว่า จะเกิดประโยชน์กับชุมชนแค่ไหน เงินที่ใส่ในกองทุนหมู่บ้านไม่ใช่แจกฟรี แต่เป็นการให้สมาชิกกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำๆแค่ 2-3% เงินที่ใส่ไปก็ยังอยู่ครบและใช้งบประมาณน้อยมาก แต่ถ้าใช้วิธีแจก เมื่อใช้แล้วก็หมดไป เงินที่ชาวบ้านได้รับแจก ก็ย้ายจากมือคนจน ไปสู่มือคนรวยเหมือนเดิม
แต่ถ้าเอาไปใส่ในระดับหมู่บ้าน แล้วมีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านดูแลวิธีการใช้เงิน วิธีการสร้างผลผลิตและวิธีการซื้อขายกัน ไม่ให้เงินไหลออกนอกระบบ จะคุมได้ง่ายกว่า วิธีนี้เป็นการต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้านที่ก่อตั้ง เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่หมู่บ้าน เอาเงินไปให้ชาวบ้านยืม หมุนเวียนใช้กันในหมู่บ้าน เป็นทุนทำมาหากิน ขั้นตอนต่อไปยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็นธนาคารชุมชน เพื่อให้มีระบบและเข้มแข็ง
ที่สำคัญ นอกจากจะเจอบททดสอบในเวทีการเมืองในประเทศแล้ว เชื่อว่า “เศรษฐา” ที่กำลังจะเดินทางไปประชุม UNGA 78 ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย.นี้ อาจจะต้องเจอคำถามจากสื่อ จากนักลงทุนต่างประเทศเรื่องระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา ที่ไม่เหมือนชาวบ้าน พรรคที่ได้อันดับ 1 และไม่ได้จ่ายเงินซื้อเสียงเข้ามา กลับไม่ได้เป็นรัฐบาล ตอนนี้นักธุรกิจไทยหลายคน มักจะเจอคำถามนี้
อันที่จริงบททดสอบนี้สะท้อนจาก ปรากฏการณ์ในตลาดหุ้น ปกติหลังเลือกตั้งทุกครั้ง หุ้นจะขึ้น แต่ปรากฏว่าหลังเลือกตั้งครั้งนี้ หุ้นตก รัฐบาลก็มีแล้ว นายกรัฐมนตรีก็เริ่มทำงานแล้ว แต่หุ้นยังตกต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนโดยตรง ก็เกิดคำถามมากมายในเรื่องระบอบประชาธิปไตยบ้านเราเช่นกัน
นี่ก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่งที่ “เศรษฐา” จะต้องเผชิญ เข้ามาไม่ทันไร ล้วนแต่เจอโจทก์ยากๆ ทั้งนั้น ไม่เรียกว่า “วิบากกรรม” ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร???
………………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)