วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“กัญชา-กัญชง”ชาวบ้านฝันค้าง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กัญชา-กัญชง”ชาวบ้านฝันค้าง

ปรากฏการณ์ “กัญชา-กัญชง” สร้างความตื่นตัวให้ทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมนำมาต่อยอดทางธุรกิจหลากหลายรูปแบบ

เป็นที่รับรู้กันว่าในแง่สรรพคุณนั้น ใบ ราก ก้าน สามารถใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่วนเปลือก แกนลำต้น ส่วน เส้นใย นำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ สารสกัด ก็ใช้ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องสำอางเมล็ดหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ใช้ในอาหารและเครื่องสำอางเรียกว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์

รายงานของนักวิเคราะห์และนักลงทุนรายย่อยของวอลล์สตรีท ระบุว่า อุตสาหกรรมกัญชาตามกฎหมายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากถึงขนาด บริษัท วิจัยกัญชา อาร์ควิว พบว่า ยอดขายในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 33% เป็น 9.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 และทำรายได้ถึง 25 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2564 ขณะที่กัญชงเองก็มีมูลค่าในตลาดโลกในปี 2562 สูงถึง 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ส่วนข้อมูลทางการตลาดระบุว่า ตลาดโลกของกัญชาถูกกฎหมายจะขยายตัวไปถึง 57พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2027 อีกทั้งสื่อแคนาดาระบุว่า มาร์ลโบโร่ เจ้าของธุรกิจบุหรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ใช้เงิน 2.4 พันล้านเหรียญแคนาดาซื้อบริษัทกัญชาในประเทศแคนดาเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา

จะเห็นว่าธุรกิจนี้ ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาก่อนไทย มีหลายบริษัทที่เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสหรัฐฯ และแคนาดา โดยบริษัทที่ใหญ่ที่สุดคือ กาโนปีโกรว์คอร์ป มีมูลค่าสูงถึงราว 3 แสนล้านบาท

ดังนั้นใครๆ จึงพากันแห่มาลงทุนในธุรกิจนี้กันอย่างคึกคัก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็คึกคักไม่น้อย มีบริษัทที่ประกาศว่าจะขยายธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงมากกว่า 30 ราย โดยสนใจลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ “กัญชา-กัญชง” จึงเป็นจุดขายใหม่ของบริษัทจดทะเบียน ทำให้ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ ยกโขยงขึ้นไปรอล่วงหน้ากันเป็นแถว

จะว่าไปแล้ว ตอนนี้ไม่รู้ว่าใครของจริงของปลอม บริษัทใดจะทำได้จริงแค่ไหน ต้องใช้เวลายาวนานเท่าไหร่จึงผลิตสินค้าหรือบริการได้ และจะทำให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตเพียงใด แต่ที่ต้องพากันประกาศปักธงไว้ก่อนอย่างน้อยๆ ก็เป็นปัจจัยที่ถูกนำไปกระตุ้นราคาหุ้นได้ มิหนำซ้ำบริษัทจดทะเบียนบางแห่งโหนกระแสใช้กัญชาและกัญชง ปั่นกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการเข้าข่ายจงใจปั่นราคาหุ้นได้

กล่าวสำหรับกลุ่มธุรกิจไทยที่ประกาศตัวจะเข้ามาลุยธุรกิจกัญชาและกัญชง มีตั้งแต่ยักษ์ใหญ่อย่าง ซีพี., ไทยเบฟ, ไทยยูเนี่ยน, คาราบาวกรุ๊ป, ทิปโก้, อาร์เอส., เถ้าแก่น้อย, อิชิตัน, ศรีตรัง เป็นต้น รวมถึง ค่ายปตท.เอง ก็สนใจ จะเห็นได้ชัดว่า บริษัทธุรกิจเอกชนต่างก็รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจกัญชาและกัญชงอย่างเป็นกอบกำ

แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังคงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ลำพังแค่ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา หรือกรณียื่นขออนุญาตจาก อย. เพื่อให้ได้ไลเซนต์มาผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา-กัญชงนั้น ในส่วนของบริษัทเอกชน คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะทำให้ได้ตามเกณฑ์และต่อยอดธุรกิจเติบโตไปได้ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นไปได้ยากมาก

ดังนั้นหากชาวบ้านจะเข้ามามีส่วนแบ่งในธุรกิจกัญชาและกัญชงที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การรวมกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุมชน แล้วเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ หน่วยงานของรัฐ หรือเข้าสู่ระบบ คอนแท็ก ฟาร์มมิ่ง กับบริษัทยักษใหญ่เท่านั้น ลำพังแค่นโยบายปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น จนป่านนี้ยังไม่มีความชัดเจน ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรเห็นแต่บรรดาบริษัทเอกชนที่พากันเดินหน้าไปไกลแล้ว

ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องจับตากันต่อไปก็คือ ดูว่าประชาชนคนไทยตาสีตาสาจะมีสิทธิกับเขาบ้างหรือไม่ หรือธุรกิจนี้มีไว้สำหรับกลุ่มทุนทำมาหากินเท่านั้น

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img