ท้าวความตอนที่มีการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่าน “ดิจิทล วอลเล็ต” เป็นเรือธงของพรรค เป็นไม้เด็ดแลนด์สไลด์ ด้วยการปูพรมคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปอยู่ในข่ายได้สิทธิ์ 56 ล้านคน ใช้เงินราว 5.6 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้ใช้ซื้อสินค้าในชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนถือเป็นการใช้เงินกระตุ้นครั้งเดียวที่มากที่สุด
เงินดิจิทัล ไม่ใช่เงินสด แต่เป็น “เครดิต” เป็นตัวเลขที่โอนกันตอนซื้อของจากร้านค้าในชุมชน เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายทำธุรกรรมกันแล้ว ร้านค้าก็จะขึ้นเป็นเงิน เมื่อร้านค้ามีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้ารัฐซึ่งจะนำมาชดเชยวงเงินที่ตั้งไว้ พร้อมตั้งเป้าว่าเม็ดเงินจำนวนนี้จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 6 รอบ จีดีพี.โต 3 ล้านล้านบาท หรือ 2.5% รวมกับจีดีพีที่โตตามปกติอยู่แล้ว 2.5-3% ก็จะได้จีดีพีไม่ต่ำกว่า 5%
เมื่อเศรษฐกิจโตกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแค่ 60% ก็จะขยายการผลิตเพิ่มขึ้น จะทำให้มีรายได้จากภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นตามด้วย เมื่อนำรายได้ที่ได้มาหักกลบลบกันกับเงินที่ใช้ในโครงการ รัฐอาจจะไม่ต้องใช้เงินใหม่เลยก็เป็นได้ หรือใช้น้อยมาก
ตรงนี้แหละที่ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” มั่นอกมั่นใจถึงขั้นประกาศว่าไม่ต้องกู้เงิน หลายครั้งหลายคราว
แต่นโยบายตอนหาเสียงกับตอนที่ นายกฯเศรษฐาแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน “ไม่ตรงปก” มีการปรับทอนบางอย่างและเพิ่มเงื่อนไขยุบยับไปหมด ล่าสุดคนที่ได้สิทธิ์ให้เฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาทและคนที่มีบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท ทำให้คนที่ได้รับสิทธิ์เหลือ 50 ล้านคนหายไปหกล้านคน
แต่ที่เป็นไฮลท์และเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์คือ การกลับลำแบบ 360 องศา เมื่อ “นายกฯเศรษฐา” ที่ออกมายอมรับว่าจะต้องออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จากเดิมยืนยันว่าจะไม่มีการกู้เงิน อีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปและเป็นสาระสำคัญนั่นคือ เงื่อนเวลาการใช้เงิน จากเดิมเคยกำหนดให้ใช้ภายใน 6 เดือน ตอนนี้ก็ผ่อนปรนเงื่อนไขให้เปิดใช้ภายใน 6 เดือนแต่ใช้ได้ถึงปี 2570 อีกทั้งจะเริ่มใช้จริงเดือนพฤษภาคมปี 2567 จากเดิมจะใช้เดือนกุมพภาพันธ์ 2567
ตรงนี้สำคัญ การเลื่อนเวลาออกไป ทำให้เสียโอกาสในการใช้ช่วงนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะให้ใช้ได้หลังจากผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ซึ่งเป็นเทศกาลที่คนจะจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด อีกทั้งคนที่ได้สิทธ์แต่ภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็กลับไปใช้จ่ายเงินได้
เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขยุบยับซับซ้อนและเงื่อนเวลาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก จะส่งผลให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ เพราะคนจะค่อยๆ ทยอยใช้เงิน แทนที่จะระดมใช้พร้อมๆ กันแบบตูมเดียว ทำให้ไม่มีพลังพอจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเลือกออก พ.ร.บ.เงินกู้ ซึ่งไม่ได้ต่างการแจกเงินเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อนๆ ถามว่า หากเดือนพฤษภาคมปี 2567 ที่เริ่มใช้นโยบายนี้ แต่พ.ร.บ.เงินกู้ยังไม่ประกาศใช้ จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เงินดิจิทัลที่ใช้ไปก่อน จะมีค่าเหมือนเช่นเงินปกติหรือไม่ หรือหากรัฐบาลนี้มีอันเป็นไปเสียก่อน จะกระทบโครงการนี้หรือไม่
ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยคิดเรื่องนี้เผื่อไว้บ้างหรือไม่??
นับจากนี้เส้นทางของ ดิจิทัล วอลเล็ต จะเต็มไปด้วยขวากหนามเสียงคัดค้านจะกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุม ทั้งผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เลขาฯสภาพัฒน์ และเลขาฯคณะกรรมการกฤษฏีกา ต่างไม่เห็นด้วยและทักท้วงขอให้มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอให้ลงบันทึกการประชุมว่าไม่เห็นด้วย
ตอนนี้ร่างพ.ร.บ.อยู่ในมือคณะกรรมการกฤษฏีกา ต้องลุ้นว่าจะให้ออกเป็นกฏหมายได้หรือไม่ สุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 หรือไม่
แม้แต่ในครม.เอง ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ เพราะนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย แต่หากมีปัญหาข้อกฏหมายครม.ทั้งคณะก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
แต่ด่านสำคัญ นั่นคือ สภาฯคาดว่าระหว่างที่นำพ.ร.บ.เงินกู้ให้สภาฯพิจารณา คงต้องลุ้นใจหายใจคว่ำ พรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคก้าวไกล คงไม่ให้โอกาสนี้หลุดมือไปง่ายๆ และในขั้นกรรมาธิการก็คงมีการซักกันมันหยดแน่ๆ
ถึงแม้จะจะผ่านสภาฯได้ เพราะรัฐบาลมั่นใจเสียงสนับสนุน แต่ก็จะมีคนนำเรื่องนี้ ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจะมีความผิดมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ พร้อมกันนั้นก็อาจจะมีคนไปยื่น “กกต.” พิจารณาว่า โครงการนี้ผิดไปจากตอนยื่นหาเสียง เข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่เพราะนโยบายที่นายกฯเศรษฐาแถลงนั้นไม่ตรงปกตามที่เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง
อย่าลืมคนที่เสียประโยชน์จากนโยบายนี้ คือคนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินแจก แต่ต้องร่วมใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อนั้น ล้วนเป็น “คนชั้นกลาง” ขึ้นไป คนกลุ่มนี้แหละที่ไม่พอใจนโยบายประชานิยมสมัยอดีตนายกฯทักษิณและจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่ละด่านที่ขวางอยู่ตรงหน้าล้วนมีผลต่อชะตากรรมของรัฐบาลและนายกฯเศรษฐา ถ้าไม่บุบสภาฯรัฐบาลก็ต้องลาออก ทางใดทางหนึ่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)