วันที่ 2 เม.ย. 2564 ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากความเสียหาย ในโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงิน 35,717.2 ล้านบาท และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
ข่าวนี้ออกมาคงทำให้กองเชียร์ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ได้เฮกันพอหอมปากหอมคอ แม้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลัง ในคดีปล่อยปละละเลย ให้เกิดการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี
เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ ในซีกรัฐบาลก็คงต้องเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อไป โดยในวันเดียวกันนั้น “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า คดียังไม่ถึงที่สุด ก็ต้องอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ และมีอัยการช่วยดำเนินการให้ ทั้งนี้ ทรัพย์ที่ยึดไว้แล้ว เช่น ที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าหลักสิบล้าน และบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3
ฟังดังนี้ก็คงไม่จบง่ายเรื่องนี้ยังเป็นหนังชีวิตหลายตอนจบ
แม้โดยส่วนตัวจะยืนยันตลอด “ไม่เห็นด้วย” กับนโยบายจำนำพืชผลการเกษตรทุก รูปแบบไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว, จำนำมันสำปะหลัง หรือพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา มีบทเรียนมาหลายครั้งหลายหน พิสูจน์แล้วว่านโยบายจำนำพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว มีผลเสียมากกว่าผลดี กลายเป็นช่องทางการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ, นักการเมือง, โรงสี และผู้ส่งออกบางกลุ่มที่ใกล้ชิดพรรคการเมือง แม้ว่านโยบายการรับจำนำข้าวจะทำให้ชาวนาจะได้เงินมากกว่าโครงการประกันราคา หรือโครงการพยุงราคาก็ตาม แต่การทุจริตก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน
ยิ่งนโยบายจำนำข้าวในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะว่ากันตามจริง ไม่ใช่จำนำข้าว แต่เป็นการรับซื้อข้าวจากชาวนาทุกเม็ด ในราคาตันละ 15,000 บาท ใช้งบประมาณทั้งหมดแสนล้านบาท ในยุค 10 ปีที่แล้ว ถือว่าราคาสูงลิ่วและใช้งบประมาณมหาศาล
แต่อย่างที่บอกงบประมาณที่ใช้ในการจำนำข้าวจำนวนไม่น้อย ได้รั่วไหลเข้ากระเป๋านักการเมืองและกลุ่มทุนการเมือง ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาล แม้แต่ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีความรู้เรื่องนโยบายข้าวดีที่สุดคนหนึ่ง ได้เคยออกมาคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยได้อรรถาธิบายผ่านสื่อมวลชนอย่างละเอียดยิบว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วย
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่สนใจคำทักท้วงดังกล่าวยังเดินหน้าโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ด้วยความรอบคอบและชอบธรรม จะต้องแยกเรื่องนี้ออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกต้องเข้าใจก่อนว่า นโยบายจำนำข้าวเป็น “นโยบายการเมือง” ที่รัฐบาลได้ทำสัญญาประชาคมไว้กับประชาชน เมื่อประชาชนเลือกเข้ามา ก็ต้องดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้
แต่อีกส่วนหนึ่งคือ “การทุจริต” เรื่องนี้ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า มีการทุจริตอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ยิ่งหากพิสูจน์ได้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมทุจริตในโครงการจำนำข้าว ก็ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
แต่ก็ขอยืนยัน ไม่เห็นด้วย ที่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะหยิบเรื่องความผิดถูกของนโยบายจำนำข้าวมาเป็น “เกมการเมืองทำลายล้างกัน” สังคมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลเพื่อไทย แต่เรื่องนี้ต้องแฟร์กับคนที่เกี่ยวข้องทุกคน มิเช่นนั้น “ความปรองดอง” ย่อมไม่เกิดขึ้น
เชื่อเถอะหากรัฐบาลนี้พ้นวาระ ก็จะมีการตามล้างตามเช็ดกันไม่หยุด เพราะมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาลลุงตู่ ก็มีข้อบกพร่องมากมาย
เมื่อโครงการจำนำข้าว เป็นนโยบายทางการเมือง หากนโยบายผิดพลาด ก็ต้อง “ตัดสินด้วยการเมือง” นั่นคือ ให้ประชาชนตัดสินลงโทษจากการเลือกตั้ง อย่าลืมว่านโยบายทางการเมืองไม่ใช่มีแค่โครงการจำนำข้าวมีทั้งนโยบายประกันราคาข้าว พยุงราคาพืชผลเกษตร แม้แต่ “รถไฟฟ้าความเร็วสูง” หาก ผิดพลาดก็ควรใช้กติกาเดียวกัน
ส่วนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ “จีทูจี” เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจำนำข้าวหากพิสูจน์ว่ามีการทุจริตจริงๆ ก็ต้องลงโทษ แต่นั่นควรจะต้องผ่าน “กระบวนการยุติธรรม” ปกติทั่วไปเหนือสิ่งใด ขายข้าวจีทูจีไม่ใช่มีเฉพาะในรัฐบาลเพื่อไทย รัฐบาลก่อนหน้านั้นก็มี หากจะเอาผิดผู้รับผิดชอบก็ควรจะย้อนหลังไปถึงรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย จึงจะเรียกได้ว่าเล่นกันแบบแฟร์ๆ
บ้านเมืองบอบช้ำมานาน ต้องเล่นกันแฟร์ๆ ความปรองดองจึงจะเกิด ทุกวันนี้คนที่เห็นใจยิ่งลักษณ์ว่าถูกกลั่นแกล้งก็มีไม่น้อย จะกลายเป็นล้างแค้นกันไปมา ไม่จบไม่สิ้น
………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”