กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า สำหรับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะมีการออกพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว สถานการณ์ล่าสุด…กำลังตกที่นั่งลำบาก มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มสูงว่า รัฐบาลจะเลื่อนการแจกเงินดิจิทัลออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมจะดีเดย์ราวเดือนพฤษภาคมนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากถ้อยแถลงของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ที่รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง ซึ่งแถลงไว้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567
“จากปัญหาและความเห็นที่เกิดขึ้นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเลต เมื่อพิจารณาจากกรอบเวลาแล้ว ไม่น่าทันเดือนพฤษภาคม แต่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยยังไม่เปลี่ยนเป็นการใช้งบประมาณปกติ แต่ยังคงพยายามที่จะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการต่อไป แต่จะรอเอกสาร ป.ป.ช.ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อ”
“จุลพันธ์” ยังพูดถึงท่าทีของ ป.ป.ช.และบางหน่วยงานที่คัดค้านการแจกเงิน ว่าไม่เห็นวิกฤติประชาชน เหมือนที่รัฐบาลเห็น และกรีดฝ่ายไม่เห็นด้วยประโยคที่ว่า “ทุนนิยมที่ไร้หัวใจ” คงเดาไม่ยากว่าหมายถึง “แบงก์ชาติ-กฤษฏีกา-สภาพัฒน์” และล่าสุดอาวุธหนัก “ป.ป.ช.”
จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า ต้องฝ่าด่านอีกหลายด่าน ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ต้องเลื่อนออกไป ส่วนหนึ่งมาจากความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเอกสารคำแนะนำจาก ป.ป.ช. ที่ได้ตอบความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับรัฐบาล ระบุว่า สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังและจนถึงขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อแจกในโครงการนี้
เมื่อ คณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี นัดประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่ แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อมีความเห็นค้านมาจากป.ป.ช.เข้ามาอย่างกระทันหัน ไม่ทันตั้งตัว
นี่คือปัจจัยสำคัญทำให้โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิม หลัง ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือเฝ้าระวังและเสนอแนะโครงการถึงรัฐบาล เนื้อหาสาระที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทโดยมองว่า มีความเสี่ยง 4 ด้าน ดังนี้
ด้านการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งแหล่งที่มาของเงินในโครงการ เงื่อนไขการแจกเงิน ที่เสี่ยงเอื้อการทุจริต ด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังไม่วิกฤต ด้านกฎหมาย ที่การตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน อาจขัดต่อกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินคงคลัง และพ.ร.บ.เงินตรา ด้านอื่นๆ เช่น ความซับซ้อนของเทคโนโลยี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของอนุกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จากนั้นจะนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเลต และประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
ปัญหาเกิดจากทั้งสองฝ่ายสุดโต่งทั้งคู่ ป.ป.ช.เองก็พยายามเอาแง่มุมทางกฏหมายมาเตะสกัด ข้อท้วงติงต่างๆ ก็อาจไม่เป็นธรรมกับรัฐบาล เช่น จินตนาการล่วงหน้าว่า โครงการนี้อาจจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยในอดีต ซึ่งเป็นคนละบริบท หรือกรณีให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต เรื่องนี้เข้าตำรา สองคนยลตามช่อง อยู่ที่มองแล้วตีความอย่างไร
แต่เห็นด้วยกับเหตุผลของ ป.ป.ช.ในเรื่องความซับซ้อนเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่ายังคงมีคนไทยในชนบทจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนแก่ คนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งควรเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการแจก แต่คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงและขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งหลายๆ คนเห็นว่า ควรแจกเป็นเงินสดแทน
คนจำนวนไม่น้อยที่กังขาบทบาท ป.ป.ช. ไม่ใช่หน่วยงานเศรษฐกิจ จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจมาก-น้อยแค่ไหน อาจจะไม่เป็นธรรมที่เอาเฉพาะประเด็นข้อกฏหมาย มาขัดขวางนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล หากองค์กรอิสระมีอำนาจตัดสินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ นโยบายการเมืองพรรคการเมืองควรรับผิดชอบ ถูก-ผิดให้ประชาชนตัดสิน ถ้าทุจริตก็ดำเนินการตามกฏหมาย
ฝั่งรัฐบาลเองก็ไม่มีความพร้อม ต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอด แถมมีจุดอ่อนตรงที่ ขาดความชัดเจนมาโดยตลอด อย่างเช่นแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่บอกไม่ได้ว่าจะทำให้จีดีพี.เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ หลายๆ อย่างก็ทำไป-แก้ไป มุ่งเน้นคะแนนนิยมทางการเมืองจนลืมผลเสียด้านอื่นๆ
บางเรื่องทั้งที่รู้ว่าหมิ่นเหม่ ก็ไม่ยอมถอย เช่น การกู้เงินมาแจก ทั้งที่หนี้สาธาณะทุกวันนี้ สูงทะลุกว่าร้อยละ 60 ไปแล้ว หรือกรณีมีข้อเสนอจากแบงก์ชาติให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพราะจะใช้เงินน้อยกว่า ก็ไม่สนใจ ยืนยันจะแจกทั่วไปตามที่หาเสียง
แม้รัฐบาลยืนยันหนักแน่นว่า จะเดินหน้าต่อ ไม่ล้มโครงการแน่ๆ ก็เข้าใจได้ หากล้มโครงการ ในทางการเมืองถือว่าเสียหาย เพราะมีต้นทุนทางการเมืองสูง แต่เส้นทางข้างหน้าดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาทเต็มไปด้วยขวากหหนามต้องฝ่าอีกหลายด่าน
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล ต้องเดินอย่างโดดเดี่ยว ดูจากท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังวางเฉย ไม่ออกมาหนุน ทั้งที่ลงเรือลำเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากโครงการนี้มีปัญหา พรรคร่วมก็ต้องโดนหางเลข ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่หากโครงการนี้ไปได้ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนไปเต็มๆ ประเมินสถานการณ์แล้ว คงไปต่อลำบาก
แต่ “เพื่อไทย” จะลงยังไงไม่ให้เสียรังวัด อย่างน้อยๆ ต้องหาแพะรับบาป หรือหาบันไดพาดให้ลง เพื่อให้บอบช้ำน้อยที่สุด เป็นไปได้ว่า อาจจะย้อนศรจับ “ป.ป.ช.” มาเป็นตัวประกันเป็นข้ออ้างเสียเลย
……………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)