คนไทยที่รอความหวังจากเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท คงจะชุ่มชื่นหัวใจกันบ้าง เมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ให้ความหวังว่า ไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี หรือ 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทจะได้เงินอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่า แหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท 2.ใช้เงินจากมาตรา 28 ของธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท 3.บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท
แต่ที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจค่อนข้างมาก พร้อมแสดงความคิดเห็นกันมากมาย คือ การที่รัฐบาลจะไปล้วงเงินจากกระเป๋าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท ซึ่งอ้างว่า “ยืมก่อนแล้วนำมาใช้ภายหลัง” แต่ก็มีคนในที่ประชุมบอร์ดใหญ่แอบกระซิบว่า ไม่ต้องยืม เพราะ “ธ.ก.ส.” เป็นธนาคารของรัฐ สามารถสั่งการได้เลย
สังคมตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า การที่รัฐบาลจะไปล้วงเอาเงินจาก “ธ.ก.ส.” เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่ หากดูตาม พ.ร.บ.ธ.ก.ส. ในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุชัดเจนว่า เพื่อการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมกับการส่งเสริมเกษตรกรในบริบทการทำอาชีพเกษตรกรรม
ไม่มีข้อความใดแม้แต่นิดเดียวที่เปิดทางให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้รัฐบาลเพื่อนำมาแจกประชาชนได้ แม้คนที่รับแจกจะเป็นเกษตรกรโดยตรงก็ตาม
ขณะที่วัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดเจนว่า “เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “เพื่อการบริโภค” และ เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ยิ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เดิมของ “ธ.ก.ส.” เพราะการแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ “ส่งเสริมการเกษตร” แต่อย่างใด
ที่สำคัญ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ในมาตรา 28 กำหนดชัดเจนว่า รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประเด็นนี้ “แบงก์ชาติ” ได้ออกมาเตือนหลายครั้ง รัฐบาลจะไม่ฟัง หรือฟังแต่ไม่ได้ยิน ไม่ทราบได้
แต่ดูเหมือนคนในรัฐบาลจะออกมาตีความแบบ “ศรีธนญชัย” ด้วยการหยิบประเด็นพ่วงท้ายของวัตถุประสงค์หลักที่ระบุว่า “หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต” มาเป็นข้ออ้างว่าสามารถล้วงเงินจาก “ธ.ก.ส.” ได้ ไม่ผิด
อันที่จริงถ้าดูตาม วิสัยทัศน์ของ “ธ.ก.ส.” ก็ระบุชัดเจนว่า เป็นธนาคารพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน และยิ่งไปดูคุณค่าร่วมขององค์กร ที่ว่ากำหนดว่า “ยกระดับเศรษฐกิจระดับชุมชน ชนบท ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้” เท่ากับเป็นการยืนยันว่า นโยบายแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาลไม่น่าจะทำได้
นับวันยิ่งเห็นแนวโน้ม นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ยากที่จะไปตลอดรอดฝั่ง ยังต้องฝ่าคลื่นลมอีกหลายยก
ล่าสุด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ “สร.ธ.ก.ส.” ได้นัดประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษหลังจากประชุมได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับที่มาของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้กับนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาลโดยมีข้อความบางช่วงบางตอนระบุว่า…ผลการประชุมคณะกรรมการ สร.ธ.ก.ส. มีมติให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ส่งเรื่องให้หน่วยงานกำกับดูแล ธ.ก.ส. ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส. ไปดำเนินการโครงการ ดิจิทัล วอลเลต ได้หรือไม่
2.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปดำเนินการโครงการ ดิจิทัล วอลเลต ได้หรือไม่
3.ให้ธนาคาร เร่งสื่อสารทำความเข้าใจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ว่าในปัจจุบัน ธ.ก.ส.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัล วอลเลต
ความวิตกกังวลดังกล่าว ก็เนื่องมาจากก่อนหน้าที่รัฐบาลจะไปล้วงเอาเงินจากธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็มีโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนของ ธ.ก.ส. อยู่แล้วและทำอย่างต่อเนื่อง เช่นพักหนี้เกษตรต่อเนื่อง 3 ปี หรือการจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท
สำหรับ “ธ.ก.ส.” ได้กลายเป็นตู้ ATM ของนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ในยามที่จะต้องหาเสียงกับเกษตรกร คิดอะไรไม่ออกก็บอก “ธ.ก.ส.” จะเห็นได้จากยอดคงค้างภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ จำนวน 885,327 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 83% ของยอดคงค้างทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาท จะเห็นว่า ธ.กส.สูญเสียรายได้และได้รับความเสียหายมากที่สุด ดังนั้นหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต วงเงิน 172,300 ล้านบาทดำเนินงานผ่าน ธ.ก.ส. เงินที่รัฐต้องจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส. ทะลุ 900,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่อง เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย “ธ.ก.ส.” ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นตู้ ATM ให้รัฐบาล “กดเงิน” ออกไปใช้ง่ายๆ ครั้งนี้คงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ว่า “บอร์ด” และ “ผู้บริหาร” จะยอมให้ “นักการเมือง” กดเงินได้ตามใจ ต่อไปหรือไม่
……………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)