วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSหนี้ครัวเรือน...หายนะเศรษฐกิจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หนี้ครัวเรือน…หายนะเศรษฐกิจ

อย่างที่รู้ๆ กันว่าการระบาดของโควิดแต่ละระลอก ปล้นเอารายได้เอาเงินออมในกระเป๋าที่เก็บไว้ จนแทบไม่เหลืออะไรเลย เราคงจำกันได้โควิด-19 ระบาดระลอกแรก จนรัฐบาลต้องสั่ง “ล็อคดาวน์” ปิดห้างฯ ปิดร้านค้า พนักงานต้องตกงาน เมื่อไม่มีงานทำ ก็ขาดรายได้ ธุรกิจก็ขาดทุน ทะยอยปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานกันเป็นแถว

โชคดีที่ตอนนั้นเป็นยุคทองของธุรกิจคนรุ่นใหม่อย่าง “ขายของออนไลน์” ธุรกิจเดลิเวลลี่ต่างเฟื่องฟู ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องคึกคักตาม

แต่ระลอก 3 ดูจะเจอวิบากกรรมทั่วถึงกัน ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของรถขนส่งรายหนึ่ง เล่าว่า คราวระบาดระลอกแรกๆ รายได้กลับดีกว่าก่อนเกิดวิกฤติเสียอีก เพราะเท่ากับบังคับให้คนหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่ระลอก 3 นี่หนักจริงๆ พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์…ไม่ได้เลย ไม่มีคนซื้อ

เช่นเดียวกับเจ้าของร้านอาหารอีสานชื่อดัง ก็บ่นให้ฟังว่า ยอดขายตกลงทุกวัน ยิ่งเที่ยวนี้ลูกค้าคงเงียบกว่าเดิม เพราะไม่มีเงินเหลือให้มาจับจ่ายใช้สอย คนที่เคยมีเงินเก็บบ้าง ก็เอาออกมาใช้หมดแล้ว

เมื่อประชาชนต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินในกระเป๋าก็ต้องจะหดหายตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็ยังต้องกินต้องใช้ ต้องหาเลี้ยงครอบครัว แถมยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่า…ค่างวดรถ ค่าเล่าเรียนลูกอื่นๆ ตามมามากมาย กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

หากส่องไส้ในสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ล่าสุดพบว่า ยอดหนี้ครัวเรือนสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3% ของจีดีพี เฉลี่ยเป็นรายหัวจะพบว่าคนไทยจะมีหนี้อยู่ราวๆ 130,000 บาทต่อคน และ 1 ใน 6 ของผู้กู้ จะมีหนี้เสียตกรายละ 64,000 บาท

ส่วนใหญ่จะกู้ซื้อบ้าน รองลงมาเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนี้เสียของหนี้ครัวเรือน ตอนนี้อยู่ที่ 2.5% แม้อัตราหนี้เสียจะยังต่ำ แต่ “หนี้เกือบเสีย” หรือผิดนัดชำระไม่เกิน 3 เดือนยังสูงเกือบ 7% ถือว่ายังไม่น่าไว้วางใจ ยังไม่รวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย หากรวมกันแล้วประเมินคร่าวๆ น่าจะไม่น้อยกว่า 120% ของจีดีพี. นับว่าน่าห่วงมากๆ

นั่นหมายความว่า หากโควิด-19 ยังระบาดไม่หยุด ประชาชนยังไม่มีรายได้เข้ามา แต่ภาระหนี้ยังเหมือนเดิม สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ต้องหันไปกู้นอกระบบ ยอมเสียดอกเบี้ยแพงๆ แทน

ที่สำคัญกว่าคือ หากเจาะลึกในระดับไมโคร ไปดูคุณภาพของลูกหนี้ และลูกหนี้ตามประเภทต่างๆ ยิ่งน่าเป็นห่วง จากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า คนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ก่อหนี้ที่มีอายุระหว่าง 29-30 ปี มีถึง1 ใน 5 ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) นั่นหมายความว่า คนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต จะกลัวโทรศัพท์มาตามหนี้ และพบว่าอายุ 60 ปีไปแล้ว…หนี้ก็ยังไม่ลด

www.thaigov.go.th

จะเห็นว่าเรื่องหนี้ครัวเรือนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ “รัฐบาลลุงตู่” จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ต้องเร่งออกมาตรการต่างๆ มาแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้น “หนี้ครัวเรือน” จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญไม่ให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้น

ตอนนี้หลายๆ ประเทศกำลังคิดโมเดลแก้วิกฤติหนี้ครัวเรือนอย่างเอาจริงเอาจัง เช่นกรณีประเทศอังกฤษ มีโครงการ “ยกหนี้” ให้กับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่มาก หรืออาจจะใช้วิธียื่นแผนจัดการหนี้แบบสมัครใจ คล้ายๆ กับการบินไทย หรือที่บริษัทต่างๆ ยื่นแผนฟื้นฟู เพื่อให้คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป

ขอเตือนว่า…อย่าประมาทหนี้ครัวเรือนโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจได้ ถ้า “ลุงตู่” ยังมัวแต่…เอาหูไปนาเอาตาไปไร่…อย่างทุกวันนี้

ก่อนหน้านี้ เคยมีผลศึกษาของต่างประเทศ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ที่ 84% ต่อ GDP แต่ของเรา ปลายปีหนี้ครัวเรือนก็จะทะลุเพดานไปแตะ 90% ต่อจีดีพี

ถือว่าเข้าเขตโซนอันตรายแล้ว เพราะว่าหนี้สินครัวเรือนมากกว่ารายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ย 1.5 เท่า

แปลว่า…ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ จะส่งผลต่อความสามารถในการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค นั่นเท่ากับว่า เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญอีกหนึ่งตัว กำลังเดี้ยง ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นภายใน 2 ปีก็คงเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ

…………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img