วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“สินค้าจีน” ปูพรมถล่มไทย...“โรงงาน” ทยอยเจ๊ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สินค้าจีน” ปูพรมถล่มไทย…“โรงงาน” ทยอยเจ๊ง

สถานการณ์เศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ อยู่ในอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทุกวันจะมีข่าว โรงงานต่างชาติย้ายฐานผลิตไปลงทุนเวียดนามบ้าง โรงงานคนไทยหยุดกิจการบ้าง

มีตัวเลขสถิติระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา มีโรงงานปิดกิจการไปแล้วกว่า 1,700 โรงเลิกจ้างกว่า 42000 ตำแหน่ง

ปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ประเทศคู่ค้าลดการนำเข้าสินค้าจากไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเรา ไม่สามารถปรับตัวตามการพัฒนาของโลกสมัยใหม่ ที่ยกระดับเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ไทยยังผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน ทำให้ถูกคู่แข่งอย่าง “เวียดนาม” แย่งตลาดไปได้

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และกำลังเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ภาคธุรกิจเดือดร้อนอย่างหนักเวลานี้ นั่นคือ “สินค้าจากจีน” ที่พาเหรดเข้ามาถล่มตลาดในประเทศทุกรูปแบบ จนผู้ประกอบการไทยได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า

อันที่จริงปรากฏการณ์นี้มีมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ที่ไทยทำข้อตกลง “เอฟทีเอ” กับจีน บังคับใช้ในปี 2548 สินค้าพืชผลทางการเกษตร ผักผลไม้ จากจีนเข้ามาตีตลาดผักผลไม้ของไทย ผ่านเข้ามาทางช่องทางภาคเหนือของไทย ต่อมาก็มีสินค้าพวกวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น กระเบื้อง จนโรงงานกระเบื้องในบ้านเราเลิกผลิตกันเป็นแถว หันมานำเข้ากระเบื้องจากจีน ที่มีราคาถูกกว่าผลิตเอง มาจำหน่ายแทน

ยิ่งทุกวันนี้หนักกว่าเดิมหลายเท่า “สินค้าจีนหลากหลายชนิด” ปูพรมดั๊มพ์ราคาขายเท่าทุน หรือยอมขาดทุนเพื่อแย่งตลาดในไทย ทำให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในบ้านเรา ต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก สินค้าอุตสาหกรรมของไทย 24 กลุ่มที่โดนหางเลขสินค้าจีนถล่มตลาด จากที่มีทั้งหมด 46 กลุ่มเรียกว่า “ครึ่งต่อครึ่ง” ที่ถูกสินค้าจีนแย่งตลาดไปได้

วิกฤติดังกล่าวสะท้อนจากสถิติการค้าขายระหว่าง 2 ประเทศ ปรากฏว่า ไทยเสียเปรียบดุลการค้าจีนตลอด ในช่วง 2-3 ปีหลัง ไทยขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณและแค่ 2 เดือนแรกปี 67 ไทยขาดคุลไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท

ปัญหาทั้งหลายมาจาก “จีน” มีสินค้าล้นสต็อกจำนวนมหาศาล เนื่องจากในช่วงก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจกำลังโต บริษัทและโรงงานต่างๆ เร่งลงทุนและขยายกำลังการผลิตเต็มที่ แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจทรุดหนัก กำลังซื้อในประเทศหดตัว ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อยังไม่กลับมา สินค้าที่เคยผลิตล้นสต็อกระบายไม่ออก จึงเร่งระบายสต็อกออกไปทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป แต่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ ตั้ง “การ์ดสูง” รับมือด้วยมาตรการ “กีดกันทางการค้า” สินค้าจีนเข้าไม่ได้ จึงไหลไปที่อื่นแทน รวมทั้งไทย

ที่เห็นชัดเจนคือ “รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน” พาเหรดบุกตลาดไทย หั่นราคาสู้กับ “ค่ายรถญี่ปุ่น” ที่เป็นรถสันดาป จนค่ายรถจากญี่ปุ่นที่โดนหางเลข ตั้งรับแทบไม่ทัน ล่าสุดค่าย “ซูบารุ” ต้องประกาศหยุดผลิตในไทยชั่วคราวในสิ้นปีนี้แต่จะหันนำเข้าจากญีปุ่น มาจำหน่ายแทน ไม่รู้ว่าจะมีค่ายอื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่  

ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า สินค้าทีจีนเข้ามาทุ่มตลาดในไทยมีทั้ง เครื่องจักรกล-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อีเลคทรอนิกส์-พลาสติก-อื่นๆ แต่ที่ฮือฮาก่อนหน้านี้คือ “สินค้าเหล็ก” จากจีน เข้ามาทุ่มตลาดขายตัดราคาเหล็กที่ผลิตในไทย ทำให้ราคาเหล็กในประเทศต่ำลง 10% กำลังการผลิตลดลงถึง 30% ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนหนัก ยิ่งน่าห่วงเพราะจีนเป็นประเทศที่ผลิตเหล็กมากถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งโลก

ทุกวันนี้ผู้ประกอบบางรายต้องเอาตัวรอด โดยใช้วิธีปิดไลน์การผลิตในหมวดสินค้าที่สินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด บางรายเลิกผลิตแล้วหันไปนำเข้าสินค้าจากจีน แล้วติดยี่ห้อเดิม นำออกมาขายแทน วิธีนี้ในระยะยาวจะเสียหายอย่างมาก

นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมจะโดนหางเลข แม้กระทั่งบรรดา “ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ๆ” ของไทยเวลานี้ ต่างพากันร้องโอดโอย เพราะโดนสินค้าจีนที่นำเข้ามาซื้อ-ขายผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์แย่งลูกค้า

ล่าสุดมีหน่วยงานวิจัยต่างชาติที่ประเมินการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของอาเซียน ระบุว่า ในปี 2023 เฉพาะประเทศไทยมีการซื้อขายผ่านออนไลน์ 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้านำเข้าจากจีน

สินค้าจีนสร้างปัญหาในบ้านเรามากมาย นับว่าอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลไม่เร่งจัดทำเรื่องนี้ เป็น “วาระแห่งชาติ” อนาคตจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมของคนไทยหลงเหลืออยู่ เพราะสู้ราคาที่จีนเข้ามาทุ่มตลาดไม่ได้ สักวันหนึ่งไทยก็จะเป็นหนึ่งในมณฑลเศรษฐกิจของจีน อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

…………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img