วันอังคาร, มิถุนายน 18, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ซูบารุ-ซูซูกิ”ปิดโรงงาน! ส่งสัญญาณ “ไทย”หลงทาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ซูบารุ-ซูซูกิ”ปิดโรงงาน! ส่งสัญญาณ “ไทย”หลงทาง

ในที่สุด ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีโรงงานผลิตในไทย ต้องประกาศหยุดผลิตปิดโรงงานถึง 2 รายในเวลาไล่เรี่ยกัน

เริ่มจากเมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 “ค่ายซูบารุ” ได้ประกาศยุติสายการผลิตรถยนต์ซูบารุทุกรุ่นในโรงงงานลาดกระบัง หลังวันที่ 30 ธ.ค.67 ซึ่งโรงงานยังไม่ยืนยันว่า จะขายให้ค่ายรถยนต์อื่นหรือไม่ และเป็นเพียงหยุดผลิตเท่านั้น แต่ยังคงวางจำหน่ายในไทย แต่จะนำเข้ามาจากญี่ปุ่นแบบทั้งคันแทน

จากนั้นวันที่ 7 มิ.ย.67 ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ว่า ซูซูกิที่เริ่มการผลิตมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นการผลิตและส่งออกได้ 60,000 คันต่อปี ยุติการดำเนินการภายในช่วงสิ้นปี 2568 แม้จะยุติโรงงานในไทย แต่ยังดำเนินจำหน่ายในไทย โดยเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดีย

การปิดตัวของค่ายรถจากญี่ปุ่นทั้ง “ซูบารุ” และ “ซูซูกิ” ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ขนาดกลาง ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า อาจจะมีค่ายอื่นๆ ประกาศหยุดผลิตรถยนต์ในเมืองไทยตามมา

อันที่จริงอุตสาหกรรมรถยนต์จากญี่ปุ่น มีคุณูปการกับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย แม้ว่าจะย้ายฐานการผลิตยกมากันทั้งพวงด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน “เงินเยนแข็งค่า” ทำให้อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่สามารถแบกค่าแรงงานที่แพงได้ ต้องย้ายฐานการลงทุนเพื่อมาหาค่าแรงราคาถูก ประเทศไทยคือเป้าหมายหลัก บริษัทรถยนต์แทบทุกค่ายย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาไทย

อุดสาหกรรมรถยนต์ / FB กรมโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ถ้าจะนับเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจริงๆ ก็น่าจะอยู่ในยุค 1990 มีสิ่งจูงใจนอกจากแรงงานราคาถูก ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มีระบบสาธารณูปโภคในโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดพร้อมรองรับ ทำให้ไทยฝันหวานจะเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเซีย” เหมือนดีทรอยต์ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอเมริกาเลยทีเดียว

ผลพวงตามมา คนไทยจะมีงานทำนับแสนตำแหน่ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนนับหมื่นๆ โรงของไทยพลอยได้อานิสงส์ กระทั่งในปี 2555 เริ่มมีสัญาณไม่สู้ดีเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มวางแผนกระจายความเสี่ยงเตรียมแผนย้ายการผลิตรถบางรุ่นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่มั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทยในตอนนั้น

แม้ว่าบริษัทรถยนต์จะได้รับการชดเชยจากโครงการรถยนต์คันแรกก็ตาม กลับกลายเป็น “ดาบสองคม” เพราะทำให้ตลาดรถในประเทศถึงจุดอิ่มตัว ตลาดไม่โตไปกว่านี้ ยิ่งในยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง จีดีพีส่วนใหญ่ไม่เกิน 3% มีความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ตลาดในประเทศก็เริ่มอิ่มตัว ไทยส่งออกรถยนต์ได้น้อยลง และเริ่มเสียตลาดให้คู่แข่ง

กระทั่งในปี 2561 ค่ายรถยนต์จากอินเดียประกาศหยุดผลิตในเมืองไทย และเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ต่อมาในปี 2563 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา “จีเอ็ม.มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์ “เชฟโรเล็ต” ขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจ.ระยอง ให้กับ บริษัทเกรท วอล มอเตอร์ส ของจีน

จะเห็นว่ายิ่งนับวันอุตสาหกรรมรถยนต์ดูจะซบเซาลงเรื่อยๆ มิหนำซ้ำต้องมาโดนพิษโควิด-19 แพร่ระบาด ยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต้องทรุดหนักลงไปอีก เศรษฐกิจก็ถอยหลังลงเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีมานี้ถดถอย โตแค่ 1.9 โดยเฉลี่ยทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงส่งผลยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของไทยลดลงทุกปี

ประกอบกับไม่กี่ปีมานี้ จีนพลิกเกมปั้น “รถยนต์ไฟฟ้า” มาเขย่าตลาดรถยนต์สันดาปของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลในเรื่องภาษี จูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและราคาพลังงานที่ผันผวน ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีนต่ำกว่า มาตีตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตในไทย

แม้จะมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามา แต่ไม่อาจจะทดแทนค่ายรถจากญี่ปุ่นเป็นฐานผลิตสำคัญ เนื่องจากคู่แข่งสำคัญอย่าง “อินโดนีเซีย” ที่จะชิงความเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ได้เปรียบไทย ทั้งในเรื่องตลาดที่ใหญ่กว่า ด้วยประชากร 270 ล้านคน และเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อินโดนีเซียมีแหล่งแร่ที่สำคัญอย่างนิกเกิลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า โอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าในอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอาเซียนเหมือนที่เคยเป็นมาแล้วในอดีตคงยาก เราแพ้อินโดนีเซียทุกด้าน

ด้วยนโยบายที่รัฐบาลโดดอุ้มค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แบบให้แต้มต่อมากมายหลายอย่าง ทั้งที่เพิ่งเข้ามาในไทยจึงเป็นการทำลายฐานผลิตรถยนต์สันดาปจากค่ายญี่ปุ่น ที่เป็นฐานผลิตสำคัญมานาน ทั้งที่สิ่งที่ได้รับจากค่ายรถยนต์จากจีนนั้น เทียบไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงาน ก็น้อยกว่า คาดว่าคนจะตกงานนับแสน ชิ้นส่วนก็ใช้น้อยกว่า จะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เดิมที่มีนับหมื่นโรงทะยอยปิดโรงงานลง

นโยบายอุ้มของใหม่-ทิ้งของเก่าที่อยู่มานาน จนค่ายรถญี่ปุ่นขนาดกลาง 2 รายต้องปิดโรงงานในเวลาไล่เรี่ยกัน นั่นเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า “รัฐบาลไทย” กำลังหลงทาง!!!

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img