วันพุธ, มิถุนายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSการเมืองทำป่วน โรงงานแห่ปิด หุ้นดิ่งเหว นักลงทุนหนี!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การเมืองทำป่วน โรงงานแห่ปิด หุ้นดิ่งเหว นักลงทุนหนี!!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์การเมืองในอาเซียนน่าสนใจและต้องจับตามองไม่น้อย เมื่อเพื่อนบ้านอย่าง “มาเลเซีย” และ “สิงคโปร์” หันมาจับมือทำภารกิจยิ่งใหญ่ ก้าวข้ามความขัดแย้งร่วมกันระหว่าง “ลอเรนซ์ หว่อง” ผู้นำสิงคโปร์คนใหม่กับ “นายกฯอันวาร์ อิบราฮิม” ของมาเลเซีย ทั้งคู่ได้พบกันอย่างเป็นทางการ โดย “อันวาร์” ต้อนรับ “หว่อง” ด้วยการเลี้ยงข้าวกลางวันที่อาคารเสรีเปอร์ดานา ซึ่งเป็นบ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

การพบกันของผู้นำทั้ง 2 ประเทศเป็นการตอกย้ำ “ความเป็นเพื่อนบ้าน” ที่แนบแน่น แม้จะมีเรื่องระหองระแหงเหมือนลิ้นกับฟัน เป็นคู่แข่งกันมาตลอด แต่ทั้งสองประเทศ ก็ไม่อาจจะมีรอยร้าวต่อกันได้ เพราะจะมีแต่ความเสียหายด้วยกันทั้งคู่ การพบกันเพื่อเป็นการตอกย้ำว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความไว้วางใจกัน

ดูบทบาทของ “ผู้นำทั้งสองประเทศ” ที่ต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งในอดีตและวิสัยทัศน์ในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้า จึงไม่แปลกใจที่ห้วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทเทค ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ตัดสินใจลงทุนในประเทศสองประเทศแทนที่จะมาลงทุนในเมืองไทย

โดยเฉพาะมาเลเซียในช่วงหลังๆ เนื้อหอมมากที่สุดได้กวาดต้อน “บิ๊กเทค” สี่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทั้ง ‘Nvidia, Microsoft, Google, ByteDance’ พากันขนเงินไปลงทุน แค่ครึ่งปีแรก ‘มาเลเซีย’ กวาดเม็ดเงินลงทุนแล้วกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

มองดูบ้านเขาแล้วหันกลับมามองบ้านเรา ยังไม่ก้าวข้ามความขัดแย้งกันเอง จิกตีกันเหมือนไก่ในเข่ง ยิ่งสัปดาห์นี้ บรรดาคอการเมืองต่างพากันจดจ้องสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใจจดใจจ่อ ชนิดตาไม่กระพริบ เนื่องจากจะมีคดีการเมืองถึง 3 คดีใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่ วันที่ 18 มิ.ย.67 คดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” คดี ม.112

ส่วน อีก 2 คดี “กกต.” ยื่น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ยุบพรรคก้าวไกล ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ คดี “40 ส.ว.” ยื่นถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้ง 3 คดีล้วนมีผลกระทบกับการเมือง ทั้งในสภาและนอกสภา รวมถึงเสถียรภาพรัฐบาล อาจถึงขั้นเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยเลยทีเดียว นั่นย่อมหมายความว่า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมิอาจปฏิเสธได้

สำนักข่าวเอเอฟพี. รายงานว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไทยจะพิจารณาสองคดี ซึ่งอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวาย คดีหนึ่งพุ่งเป้านายกรัฐมนตรี อีกคดีเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สุดพรรคหนึ่ง”

ต้องเข้าใจว่า การที่สื่อนอกรายงานข่าวแพร่ไปทั่วโลก ย่อมเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศและเหล่านักการทูตต่างชาติในประเทศไทย ต่างติดตามคดีอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลที่ออกมาย่อมจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทย ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก จะเห็นได้จากตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 1 มิ.ย.66 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาสุทธิ กว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องสิ้นเดือนม.ค.67 อยู่ที่ 1,364.52 จนล่าสุดปิดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.67 อยู่ที่ 1,306.56 จุด เกือบจะแย่ที่สุดในโลก ล่าสุดระหว่างเขียนต้นฉบับ ดัชนีราคาหุ้นดิ่งหลุด 1,300 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง

อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ การที่นักลงทุนถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยเพื่อไปลงทุนตลาดหุ้นอื่นแทน ย่อมสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นประเทศไทย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง ล่าสุดจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค.67 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน อยู่ที่ 60.5 จาก 62.1 ทั้งยังเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุหลัก มาจากความกังวลสถานการณ์การเมืองไทยหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดเผยรายงาน “โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา?” ไว้อย่างน่าสนใจ

รายงานระบุว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทย และที่น่ากังวลคือ ข้อมูลการปิดโรงงาน ตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่งไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ ก็ลดลงเช่นกัน ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นแบบนี้มาก่อน

นักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตลาดทุนและนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนโดยตรง (FDI) ไม่กล้าเข้ามาลงทุน หรือที่ลงทุนอยู่แล้ว ต่างพากันถอนการลงทุนไปที่อื่นแทน แม้กระทั่งนักลงทุนไทย ก็ขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ เพราะไม่มีความเชื่อมั่น เม็ดเงินที่นักธูรกิจไทยขนเงินไปลงทุนต่างประเทศจาก 3% ของจดีพี.ในปี 2006 เป็น 34% ของจีดีพี.ในปี 2024 จนถึงวันนี้ผ่านมา 4 ปีก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ล้วนเป็นผลพวงมาจากความวุ่นวายทางการเมืองทั้งสิ้น

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img