วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา‘วิกฤติกบต้ม’ หนักกว่า‘ต้มยำกุ้ง’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา‘วิกฤติกบต้ม’ หนักกว่า‘ต้มยำกุ้ง’

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เป็นวันที่คนไทยมิอาจลืม เพราะเป็น วันแห่งหายนะเศรษฐกิจไทย ที่ทั่วโลกขนานนามว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

วิกฤติครั้งนั้น ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศไทย จำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง มีคนต้องตกงานจำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของวิกฤติ เริ่มจากประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี ช่วงก่อนวิกฤติตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากการส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศ “หดตัว” อย่างรุนแรง ในปี 2539 การส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า

มิหนำซ้ำยัง ต้องเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศ ผลจากการเปิดเสรีทางการเงิน ในช่วงปี 2532-2537 ธุรกิจหันพึ่งพาทุนจากต่างประเทศ โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินกำหนดตายตัวไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีหนี้ระยะสั้นที่มีถึง 65% ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลต่อการเกิด “หนี้ด้อยคุณภาพ” หรือ NPL ในสถาบันการเงินปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทุนสำรองอยู่ระดับต่ำมากๆ

ที่สำคัญประเทศไทยยังลงทุนเกินตัว จนเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการเข้าไปเก็งกำไรจำนวนมาก นับเป็นปัญหาหนี้เสียที่สูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ที่ 52.3%

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ดำเนินงานไร้ประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดถึง 58 แห่ง ​ปัญหาที่สะสมกลายเป็นดินพอกหางหมู นักลงทุนต่างชาติเห็นจุดอ่อนจึงฉวยโอกาส “โจมตีค่าเงินบาท” ทำให้มีการเทขายเงินบาท หนีไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐแทนเป็นจำนวนมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงตัดสินใจนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมดมาใช้เพื่อ “ปกป้องค่าเงินบาท” จนเงินสำรองเหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำอย่างน่าเป็นห่วง

ในที่สุดวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ทันที

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายครั้งนั้น จนป่านนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นคืนมา “ต้มยำกุ้ง” ทำให้เศรษฐกิจพังพินาศอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่ก็มีหลายคนบอกว่า ให้ระวัง “วิกฤติกบต้ม” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น หนักกว่าหลายเท่า เพราะเป็น วิกฤติของคนทั้งประเทศ ไม่จำกัดวงเฉพาะ “คนรวยระดับบน” เและ “สถาบันการเงิน” เท่านั้น แต่วิกฤติวันนี้กระทบคนทุกชั้น โดยเฉพาะ “คนชั้นล่างระดับรากหญ้า” ที่ได้รับผลกระทบ มากกว่า “คนชั้นกลาง” และ “คนชั้นสูง”

“วิกฤติกบต้ม” คือสภาพเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ซบเซา แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ประชาชนในประเทศจะไม่รู้สึกรู้สา ว่ากำลังเกิดวิกฤติ เหมือนกบในหม้อต้มที่น้ำค่อยๆ ร้อนโดยที่กบไม่รู้ตัว และเมื่อน้ำเดือด ก็หนีไม่ทันเสียแล้ว

เศรษฐกิจไทยทุกวันนี้น่าจะใกล้เคียงกับ “ทฤษฏีกบต้ม” ที่สุด แต่ที่น่าห่วงตรงที่ดีกรีของน้ำในหม้อร้อนขึ้นทุกวัน แต่คนไทยรวมถึงรัฐบาลก็ยังเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจาก รายงานธนาคารโลก เมื่อวันที่ 3 ก.ค.นี้ ระบุว่า จากการตามติดเศรษฐกิจไทยล่าสุด พบว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่หลังโควิด เมื่อปี 2019 จนถึง 2023 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทุกวันนี้ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวยากหมากแพงแต่ค่าแรงต่ำ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งขึ้นมาที่ 90.1% รั้งอันดับ 2 ของโลก โรงงานทะยอยปิดรายวัน นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตหนีไปลงทุนที่อื่น ดัชนีตลาดหุ้นร่วงรูดเพราะต่างชาติแห่เทขายเนื่องจากไม่มีความมั่นใจ

ข้อมูลล่าสุด ไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้มานานถึง 30 ปียังไม่ได้ขยับไปไหน ยิ่งปีนี้รายได้ต่อหัวคนไทย ประมาณ 7,180เหรียญสหรัฐต่อปี ลดลงจากปีที่แล้ว 7,230 เหรียญต่อปีอันดับหล่นจาก 94 มาอยู่ที่ 102ตลอดเวลา10ปีที่ผ่านมาจีดีพี.ไทยโตเฉลี่ยแค่ 1.9% เท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจาก โครงสร้างทางเศรษฐกิจก้าวไม่ทันโลก ส่งผลให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ที่ผ่านมาเรามีอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าส่งออกที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ญี่ปุ่นย้ายฐายการผลิตมาลงทุนบ้านเรา จนมีฉายาว่า “ดีทรอยต์เอเซีย” แต่ทุกวันนี้รถยนต์สันดาปจากค่ายญี่ปุ่น ถูกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เข้ามาตีตลาด ทำให้การส่งออกลดลง

สินค้าอุตสาหกรรมอย่าง “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” ที่ไทยเคยส่งออกมากที่สุดในโลก ต่อมามาเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมล้าสมัย คนเลิกใช้ เพราะนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่าง “เซมิคอนดัคเตอร์” เข้ามาแทน

Thailand Economic Monitor รายงานว่า ขณะที่ตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำของไทยในห่วงโซ่คุณค่าโลก(Global Value Chains) ทำให้ไทยไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของวงจรอิเลคทรอนิกส์โลกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจากส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างเช่น เซมิคอนดัดเตอร์ เป็นต้น

“วิกฤติกบต้ม” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงซับซ้อนแก้ยากกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” สิ่งเดียวที่ไทยจะออกจาก “หม้อต้มกบ” ได้ ต้องเร่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยเร็วที่สุด !!!

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img