เมื่อไม่กี่วันมานี้ “ธนาคารโลก” ได้ออกมา แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง จาก “โครงการดิจิทัล วอลเล็ต” ซึ่งเป็นการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะเงินเฟ้อตามมา ซึ่งจะทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องเลื่อนแผนการลดอัตราดอกเบี้ยออกไป โดยธนาคารโลกประเมินว่า หากไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ธปท.จะมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 0.50%
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมองว่า การที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีความไม่แน่นอน และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะเริ่มเมื่อไหร่ หรือมีใครได้รับบ้าง อาจจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตเปลี่ยนสมดุลของความเสี่ยง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม การประเมินเบื้องต้นของธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ตอาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.5-1% ของจีดีพี. แต่มีต้นทุนมากถึง 2.7% ของจีดีพี.ประเทศไทยเลยทีเดียว
นับตั้งแต่รัฐบาล “นายกฯเศรษฐา” เข้ามาบริหารประเทศ ธนาคารโลกได้ออกมาเตือนหลายๆ เรื่อง แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด กระทั่งประเด็นดิจิทัล วอลเล็ต ที่ธนาคารโลกออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วง
ก่อนหน้านี้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนักการเงิน ก็แสดงความเป็นห่วงและทักท้วงกันมาตลอด แต่ดูเหมือน “รัฐบาลเศรษฐา” จะฟังแต่ไม่ได้ยินเช่นกัน ทำให้ตลอดเวลาเกือบปี รัฐบาลยังสาละวนกับเรื่อง “ดิจิทัล วอลเลต” ที่ยังไม่คืบหน้าถึงไหน ทั้งที่ประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจที่ใหญ่และสำคัญกว่าดิจิทัล วอลเล็ต
รัฐบาลต้องเสียเวลากับเรื่องนี้มาจนจะครบปี ยังไปไม่ถึงไหน มัวแต่ชักตื้นติดกึก-ชักลึกติดกั๊ก วนลูปเดิมๆ เฉพาะแค่ “ที่มาของเงิน” ที่จะนำมาใช้ในโครงการชักเข้า-ชักออก ไม่รู้ว่ากี่เที่ยว
ครั้งแรก หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลใหม่ๆ “นายกฯเศรษฐา” แถลงต่อรัฐสภาฯ มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขรายละเอียดโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ใหม่ จากเดิมจะใช้เงิน “งบประมาณ” เปลี่ยนมาเป็นการออกพ.ร.บ.กู้ยืมเงิน 5 แสนล้านบาทและ เปลี่ยนจากเดิมแจก 1 หมื่นบาททุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ยังเป็นอายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนเดิม แต่ปรับแก้เงื่อนไขเรื่องรายได้ ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับจะต้องมีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาท และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาทเท่านั้น
ทันทีที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงิน โดยจะมาใช้ “เงินกู้” แทนการใช้ “งบประมาณ” ก็มีกระแสต่อต้านในวงกว้าง ทั้งนักเศรษฐศาสตร์, อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดของรัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ ซึ่งในความจริง “ผู้ที่คัดค้าน” ไม่ได้ค้านแบบเหมารวม แต่เห็นว่า ควรจะแจกให้กับกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นจริงๆ
พอมีเสียงไม่เห็นด้วยหนักเข้า ต่อมารัฐบาลก็บอกว่าไม่กู้แล้ว 5 แสนล้านบาท จะไปใช้เงินงบประมาณบางส่วน และ เฉือนเงินของธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาสมทบแทน คาดว่าจะใช้ราว 1.7 แสนล้านบาท เท่านั้น
แต่ก็ต้องเจอตอเบ้อเริ่ม เมื่อ “กฤษฏีกา” ตีความว่า ทำไม่ได้ ผิดวัตุประสงค์เงินธ.ก.ส.ต้องใช้เพื่อเกษตรกรเท่านั้น
ขณะที่สหภาพ ธ.ก.ส.ออกโรงค้าน ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมาเจียดเงินจากธ.ก.ส.ไปแจก ต่อมาจึงพลิกอีกครั้งโดยออกมายืนยันว่า ยังจะใช้เงินจากงบประมาณประจำปีเหมือนเดิม แต่เป็นการใช้งบกลาง ปี 2567 แทน
ล่าสุด คณะอนุกรรรมการฯเตรียมข้อเสนอใหม่ ซึ่งเป็นความเห็นของสำนักงบฯและกระทรวงคลังให้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต พิจารณาในวันที่ 15 ก.ค.นี้ โดยให้กระทรวงคลังกลับไปใช้งบปประมาณปกติ แทนการใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. รวมถึงปรับวงเงินงบประมาณจาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะเท่าที่มีการสำรวจพบว่า ผู้มีสิทธิ์ที่จะมารับแจกจริงๆ แค่ 90% ของกลุ่มเป้าหมายทำให้ประหยัดงบประมาณอีก 5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าครั้งนี้เรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะจบแค่นี้ หรือจะพลิกอีกหรือไม่ ต้องเฝ้าดูกันต่อไป
ขณะที่หลักเกณฑ์อื่นๆ ก็ยังไม่นิ่งพลิกไปพลิกมา ตอนหาเสียงประกาศหนักแน่นว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านค้าชุมชนเท่านั้น และต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เมื่อมีเสียงค้านว่า จะกระทบกับชุมชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ที่อาจจะไม่มีร้านค้าเข้าร่วม
ในที่สุดก็ยกเลิกมาตรการให้ใช้เงินกับร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร และยกเลิกเฉพาะร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ กลายเป็นว่า เปิดทางร้านสะดวกซื้อก็เข้าร่วมได้ แม้แต่สินค้า ก่อนหน้านี้ก็บอกว่าซื้อโทรศัพท์มือถือได้ ต่อมาก็ยกเลิกว่าไม่ได้แล้ว
ไม่ว่าโครงการนี้จะถูลู่ถูกัง ยังไง “เป้าหมายของรัฐบาล” จะต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ เพราะเดิมพันด้วย “ต้นทุนทางการเมือง” ของ “พรรคเพื่อไทย” ค่อนข้างสูง เศรษฐกิจประเทศจะเป็นอย่างไรก็ตาม
………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)