วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ซอฟต์เพาเวอร์’แบบไทยๆกำลังหลงทาง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ซอฟต์เพาเวอร์’แบบไทยๆกำลังหลงทาง

กีฬาโอลิมปิค เป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของหมู่มวลมนุษยชาติ ซึ่งนับถอยหลังอีกไม่กี่วัน กีฬาโอลิมปิคที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจะเริ่มเปิดฉาก ชาติต่างๆ เริ่มทยอยปล่อยชุดทีเข้าร่วมพิธีการมหกรรมกีฬาครั้งนี้ หลายๆ ชาติก็ได้รับคำชื่นชม

แต่สำหรับ ชุดเข้าร่วมพิธีการบ้านเรา พลันที่ปล่อยออกมา ก็โดนโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบเป็นส่วนใหญ่ นำไปเทียบกับชุดของ ประเทศมองโกเลีย ที่เป็นชาติที่เล็กกว่าไทย แต่สามารถออกแบบเสื้อผ้านำเอาเอกลักษณ์ของชาติมาประยุกต์ได้อย่างสวยงาม

ไม่อาจปฏิเสธว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์ส่วนหนึ่ง น่าจะต้องการกระทบชิ่งไปยังนโยบายซอฟต์เพาวเอร์ (Soft Power) ของรัฐบาลที่พยายามโหมโฆษณาที่จะปั้น “แฟชั่นไทย” ขึ้นชั้น “แฟชั่นระดับโลก”

ที่ผ่านมา “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” เวลาไปเยือนต่างประเทศ ก็มักจะนำ “ผ้าขาวม้า” พาดคอบ้าง คาดเอว หรือตัดเป็นเสื้อใส่เข้าร่วมงาน รวมถึง “ผ้าไหม” ไปโปรโมตให้ชาวโลกได้รู้จัก แต่พอนำเสนอ “ชุดพิธีการในกีฬาโอลิมปิค” ที่เป็นเรื่องการดีไซน์ ก็ทำท่าจะไปไม่เป็นเสียแล้ว สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ด้านนี้ เรายังห่างชั้นจากชาวบ้านมาก

อันที่จริง “ซอฟต์เพาเวอร์” ตามนโยบายรัฐบาล ดูจะเน้นผลักดันทุกอย่างแบบหว่านแหถึง 11 สาขา 54 โครงการ มีงบฯสนับสนุนกว่า 5 พันล้านบาท มีหลายอย่างที่คนไทยไม่มีความถนัด ยิ่งบอกว่าจะไปในเวทีระดับโลกแล้ว เป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “หนังสือ” โอกาสทีจะปั้นนักเขียน จะพิมพ์หนังสือขายทั่วโลก “ภาพยนต์-ดนตรี” หากจะเทียบชั้นระดับโลก ค่อนข้างยากต้องใช้เวลา ไม่ใช่มีเงินแล้วจะเสกขึ้นมาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ด้านแฟชั่น” ที่รัฐบาลพยายามโหมโปรโมต ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ควรจะจัดอยู่ในนโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” ด้วยซ้ำ เพราะคนไทยไม่มีพื้นฐานด้านแฟชั่น ไม่มีพื้นฐานด้านศิลปะ สมัย “ไทยรักไทย” เป็นรัฐบาลเคยคิดจะปั้นให้ไทยเป็น “ศูนย์แฟชั่นโลก” แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ในที่สุดเงียบหายไป

ลองคิดดูว่า เราจะไปสู้กับประเทศที่ครองความเป็นเลิศด้านแฟชั่นมานับร้อยๆ ปี อย่าง ฝรั่งเศส-อิตาลี-อังกฤษ-สเปน-สหรัฐฯ ได้อย่างไร พื้นฐานคนในประเทศเหล่านี้ มี “ดีเอ็นเอ” มีจิตวิญญาณทางด้านศิลปะอยู่ในสายเลือด สืบทอดกันมานานนับร้อยปี มีแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากมาย

ในอดีต ยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟู ยอมลงทุนมหาศาลเพื่อผลักดันแฟชั่นจาก “ดีไซเนอร์ญี่ปุ่น” หวังจะขึ้นชั้นแบรนด์แฟชั่นระดับโลก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ “เกาหลี” อาจจะประสบความสำเร็จเรื่องหนัง ดนตรี แต่ด้านแฟชั่นก็ยังห่างไกล จากประเทศมหาอำนาจด้านแฟชั่นของโลก

เราอาจจะต้องมาทบทวนว่า เราถนัดอะไร แล้วต่อยอดได้ง่ายที่สุด เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตอนนี้ที่เห็นก็มี “อาหารไทย” ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จะเป็นรองแค่ “อาหารอิตาลี” กับ “อาหารญี่ปุ่น” เท่านั้น ร้านอาหารไทยในต่างประเทศทั่วโลก มีนับหมื่นๆ ร้าน แม้ร้านอาหารเกาหลีกำลังมาแรง แต่ก็ยังสู้อาหารไทยไม่ได้

อีกอันคือ “ธุรกิจนวดสปา” ก็เป็นที่ยอมรับหากมีการจัดการที่ดี ลบภาพเรื่องเซ็กส์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เป็นการนวดทางการแพทย์ นวดเพื่อสุขภาพ

แต่ที่ง่ายที่สุดไปได้เร็วสุด น่าจะเป็น “มวยไทย” นอกจากจะอยู่ในสายเลือดคนไทยตั้งแต่เกิด เหมือนคนบราซิลที่คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอล ที่สำคัญ “มวยไทย” ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีคนต่างชาติจำนวนไม่น้อย ที่มาเรียนรู้วิชามวยไทยในค่ายมวยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ทุกวันนี้ “มวยไทย” จึงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีการจัดการแข่งขันชกมวยไทยในระดับอาชีพโดยการควบคุมของสภามวยไทยโลก และจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย เช่น สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ เพื่อผลักดันมวยไทยเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

แม้แต่ “องค์การสหประชาชาติ” ยังให้การยอมรับมวยไทยเป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก ด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ “สภามวยไทยโลก” และ “สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ” อีกด้วย

จะว่าไปแล้ว “มวยไทย” เป็นซอฟต์เพาเวอร์ ระดับโลกมานานหลายทศวรรษ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลข้อมูลจากการกีฬาแห่งประเทศไทย พบว่า “ค่ายมวย” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในประเทศไทย มีทั้งหมด 273 ค่าย (ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.65) ขณะที่ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยเปิดสอนมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ในต่างประเทศมียิมที่เปิดการฝึกสอนมวยไทยเกือบ 4,000 แห่งทั่วทวีปยุโรป ในเยอรมันคนสนใจเรียนมวยไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกามี 1,700 แห่งและมียิม, ค่ายมวยไทย ประมาณ 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งยิมเหล่านี้มีความต้องการอุปกรณ์การฝึกมวยไทย ครูมวยไทย อย่างสูง

ในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “มวยไทย” คือ ชุดนักมวย อุปกรณ์การซ้อมต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 1.25 พันล้านดอลลาร์

ส่วนในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แม้ตัวเลขจะไม่ปรากฏชัดเจนว่า ธุรกิจยิมมวยไทยในยุโรปมีมูลค่าเท่าใด แต่ก็น่าจะมากกว่าในเมืองไทย นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในไทยต้องมาดูมวยไทย เรียกว่า “มวยไทย” เชื่อมโยงกับคนุกกลุ่มทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้าน จนถึงธุรกิจ

แม้ “มวยไทย” เป็นหนึ่งใน “ซอฟต์เพาเวอร์” แต่ความสำคัญยังน้อยกว่า “แฟชั่น” ทั้งที่ไม่รู้อนาคต ว่าจะไปรอดหรือไม่ หรือเรากำลังหลงทาง !!!

………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img