ก่อนวิกฤติปี 40 ประเทศไทยอยู่ในยุคโชติช่วงชัชวาล นักลงทุนต่างชาติพาเหรดเข้ามาลงทุนในบ้านเรา เป็นแรงส่งให้ การส่งออกเลขและจีดีพี.ตัวเลขสองหลัก จนพากันฝันหวานว่า เราเป็นประเทศเจริญแล้ว
ตอนนั้นถึงขั้นประกาศตัวว่า จะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเซีย เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ “Nics” ต่อจากญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์และไต้หวัน เลยทีเดียว แต่พอเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” Nics ถูกแปลเป็น Narok is coming soon
หลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลต่อๆ มา นำเสนอนโยบายสร้างประเทศเป็น “ศูนย์กลาง” หรือที่เรียกว่า “ฮับ” ต่างๆไม่ว่าจะเป็น “ฮับ” การเงิน การลงทุน การบิน ด้านโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว รวมถึงฮับการแพทย์และสุขภาพ อีกสารพัดฮับ ทั้งยังเคยคิดจะเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค เพราะมองว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ที่ตั้ง แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.67 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวใหญ่โตเปิดตัว “โครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub)” งานนี้ นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า จะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงินการลงทุน และการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของประเทศไทย และการพัฒนากฎหมายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
ฝันหวานว่า โครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงมายังประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางการเงินระดับโลก” ภายใต้โครงการ Ignite Finance รัฐบาลไม่เพียงมุ่งหวังที่จะพัฒนาภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศแต่ยังมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคน
ต่อมา “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกหน่อย โดยกล่าวว่า จะเน้นการประกอบธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ธุรกิจประกันภัย
การจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้คุณเผ่าภูมิบอกว่าต้องผ่าน 3 กุญแจสำคัญคือ
1.กฎหมายที่พร้อมรับอนาคต มีความยืดหยุ่น โปร่งใส เอื้อต่อการประกอบธุรกิจตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขยายบทบาทภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก
2.สิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากรและครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่าศูนย์กลางการเงินอื่น โครงการเงินสนับสนุน (Grant) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ
3.ระบบนิเวศแห่งอนาคต จะพัฒนากฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใส รวมถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “วิสัยทัศน์” หรืออาจจะเป็นเพียง “ความฝันลมๆ แล้งๆ” เหมือนที่ผ่านมาก็เป็นได้ เพราะยังไม่ได้นำเสนอ ว่าจะมีกระบวนการทำงานอย่างไร ที่จะให้ไปถึงเป้าหมาย หรือว่าจะเหมือนที่ผ่านๆ มา ที่ทำพิธีเปิดตัวอลังการ เสร็จแล้วก็เงียบหายไป
ทั้งนี้การที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินโลกได้นั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ กฎหมาย ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส
แต่ถ้าจะให้ถึงเป้าหมาย ต้อง “สังคายนาระบบกฏหมายครั้งใหญ่” ให้มีขั้นตอนการทำงานที่รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และต้องไม่ให้ “ผู้มีอำนาจ” ใช้ดุลพินิจ เพราะจะเป็นที่มาของ การทุจริตคอรัปชั่น เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อันที่จริง ในสมัย คสช.ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์จะปฏิรูปกฏหมายครั้งใหญ่ ลดความซ้ำซ้อนลง ตอนนั้นมีนักธุรกิจภาคเอกชนรวมตัวกันลงขันกัน จ้างนักกฏหมายชื่อดังระดับโลก มาสังคายานา แต่ก็ไม่มีการตอบสนองจากผู้ที่เกี่ยวข้องแถมมีทีท่าจะขัดขวาง จนต้องเลิกล้มความตั้งใจไป เรื่องนี้เรื่องใหญ่และไม่ได้แก้กันง่ายๆ
อีกทั้งในการจะเป็น ศูนย์กลางการเงินโลก นอกจากมีกฏหมายแล้ว ในการดำเนินการกับ “ผู้กระทำผิด” ต้องทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่อง การฟอกเงิน, การเป็นแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติ หรือ การมีภัยคุกคามจากไซเบอร์ และ ข้อกำหนดเรื่องภาษีซ้อน หากตรงนี้แก้ไม่ได้ ก็ลำบากจะไม่มีใครเชื่อถือ
อีกหนึ่งอปสรรคสำคัญที่จะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายคือ ปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส โดยเฉพาะใน “ตลาดทุน” ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ สะท้อนจากกรณี “หุ้นกู้” ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก
นอกจากนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัททำ การตกแต่งบัญชี, สร้างงบการเงินเทียม, การควบรวมกิจการสร้างเม็ดเงินฐ สร้างราคาหุ้นและปั่นหุ้น ที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบปล่อยปะละเลย ไม่ดำเนินการกับบริษัทที่มีปัญหาจนลุกลามใหญ่โต ต้องเข้าใจว่า นักลงทุนต่างชาติกังวลในเรื่อง ธรรมาภิบาล เรื่องความโปร่งใส ของไทยอย่างมาก
ขณะเดียวกันการทำงานในรัฐบาลกับงานที่ดูแลนโยบายการเงิน อย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่ราบรื่น ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน แม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษากฏหมายของรัฐบาล อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา หลายครั้งก็ออกมาเบรก เช่นกรณี ดิจิทัล วอลเล็ต เป็นต้น ตรงนี้ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล
งานนี้ถือว่าใหญ่มาก ใหญ่กว่าโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ใหญ่กว่า “ซอฟเพาเวอร์” และโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่ไม่รู้ว่าตอนนี้เป็นยังไง การประกาศว่า ไทยจะเป็นโครงการศูนย์กลางการเงินโลก เป็นที่จับตาทั่วโลก จึงไม่เรื่องเล่นๆ และไม่ใช่ของเล่นของใคร
………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)