วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“โตต่ำ-หนี้สูง”ฉุดเศรษฐกิจไทยโตช้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“โตต่ำ-หนี้สูง”ฉุดเศรษฐกิจไทยโตช้า

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสการ ทยอยปิดกิจการ ปิดโรงงานในไทย รวมถึงการ ลดกำลังการผลิตลง หรือ หยุดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้ “แรงงานคนตัวเล็กตัวน้อย” ที่ต้องพึ่งเนื้อนาบุญภาคอุตสาหกรรมต้อง “ตกงาน” หลายหมื่นชีวิต

วันนี้ความเคลื่อนไหวการปิดโรงงานจะเริ่มซาลง แต่กลับมีกระแส ทยอยปิดร้านอาหารและสถานบันเทิง แทบจะรายวัน

น่าสังเกตว่าร้านอาหารที่ปิดกิจการ จะเป็นร้านที่เพิ่งตั้งใหม่ไม่กี่ปี หรือร้านอาหารแนวของคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง สวนทางกับยอดขายบะหมี่สำเร็จรูป ที่ยอดขายพุ่งกระฉูด ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากการปิดโรงงานอุตสาหกรรม คนงานต้องตกงานไม่มีรายได้

ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยามนี้อยู่ในภาวะที่เดินไปทางไหน มักจะได้ยินผู้คนตามท้องถนนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจแย่ ทำมาหากินลำบาก เงินในกระเป๋าลดลงเรื่อยๆ ทุกคนอยู่ในโหมด ไม่ลงทุน ไม่ใช้จ่าย เพราะไม่เชื่อมั่นอนาคต

ความเดือดร้อนครั้งนี้ สะเทือนถึงภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่ออกมาแถลงว่า เศรษฐกิจไทยว่า ยังเปราะบาง เสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง ข้อมูลจาก “สภาพัฒน์” ล่าสุด ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8 จะเห็นว่าดัชนีแต่ละตัวค่อนข้างต่ำ มีเพียงการบริโภคเอกชนที่ยังดูดีกว่าดัชนีตัวอื่นๆ

ปรากฏการณ์นี้นักวิชาการบอกว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “ทศวรรษที่สูญหายทางเศรษฐกิจ” เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไทยในรอบ 3 ทศวรรษลดลง จากจีดีพีที่เคยสูง 7% เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว มาเป็น 2% ในปัจจุบัน นับตั้งแต่หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิดเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่เกิน 2% คาดว่าต่อจากนี้จะขยายตัวในช่วง 2-3% ค่าเฉลี่ยที่ 2.5% เท่านั้น ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียนจีดีพี.โตระดับ 5% ขึ้นไป

ที่สำคัญ ในการการฟื้นตัวหลังโควิด พบว่า ไทยฟื้นตัวช้า และยังฟื้นตัวช้ากว่าตัวเองในอดีตตัวชี้วัดตั้งแต่การเจริญเติบโตที่ชะลอตัว, อัตราการบริโภคต่ำ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนย่ำแย่สูงกว่า 90% ของจีดีพี.

จึงไม่น่าแปลกใจ “ตัวเลขการส่งออกของไทย” ลดลงจนกระทั่งติดลบต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเจาะเข้าไปดู “ไส้ใน” การส่งออก สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไอซีที ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโตในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกน้อยลงเรื่อยๆ น้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม

สะท้อนว่า ภาคการผลิตของไทยยังผูกโยงกับอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องแบบเก่าๆ ทำให้การส่งออกของไทยยังปรับตัวช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าในตลาดโลก เรียกว่า ไทยเก่งในสิ่งที่โลกกำลังไม่ต้องการ แม้สินค้าที่ไทยส่งออกมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่เป็นสินค้าคนละตัวกับที่กำลังขยายตัวในตลาดโลก

พูดง่ายๆ กลุ่มสินค้าที่ไทยมีความเก่งหรือเชี่ยวชาญ สวนทางหรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกแล้ว ในขณะที่สินค้าที่โลกกำลังขยายตัวอย่างอื่น อย่างเช่น แผงวงจรรวม เซมิคอนดักเตอร์ต่างๆ ประเทศไทยกลับหดตัวลงเรื่อยๆ

ฉะนั้นหากไม่เร่งปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะถอยหลังลงเรื่อยๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น เนื่องจาก “ดีมานด์จากภายนอกประเทศที่น้อยลง” ซึ่งส่งผลต่อการปิดกิจการของโรงงาน เมื่อปิดโรงงานหรือลดกำลังการผลิต ภาคแรงงานมีรายได้ลดลง กระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อ ทำให้ผลิตน้อยลง และวนกลับไปกระทบการจ้างงาน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ทำให้เกิดการหยุดลงทุน หยุดจับจ่ายใช้สอย

จากปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี้ ส่งผลให้ไม่มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ แต่ส่วนของ ภาคการผลิต ก็ยัง “อาการหนัก” เรื่องนี้ทำให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องออกมาแถลงเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปีว่า หดตัว 1.8% ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนส่งออกสินค้ามาแข่งขันขันในอาเซียนมากขึ้น

ขณะที่ประเทศวิกฤติหนัก ต้องการการแก้ปัญหาระยะยาว และเรื่องนอกประเทศ แต่รัฐบาลทุกๆ รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ กลับให้ความสำคัญนโยบายระยะสั้น และทำแต่เรื่องในประเทศ เช่น การกระตุ้นการบริโภค เป็นสูตรสำเร็จทุกยุคทุกสมัย

“วิธีคิดของนักการเมือง” เพียงแค่ให้เป็น “ผลงานของตัวเอง-พรรคตัวเอง” รัฐบาลตัวเองเท่านั้น เนื่องจากเสถียรภาพการเมืองไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เปราะบางสูง รัฐบาลมีอายุสั้น อยู่ไม่นาน

แต่สิ่งที่นักการเมืองไม่ได้คิดคือ ที่ผ่านมารัฐบาลทำนโยบายระยะสั้นมาก จนกระทั่งมีต้นทุนแล้วจนถึงวันนี้ จะเห็นว่า หนี้ครัวเรือนสูงจนน่าเป็นห่วง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP คิดเป็นสัดส่วน 90.8% ในไตรมาสแรกของปี 2567 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 91.4%และการลงทุนภาครัฐลดลง 16.7% ตัวเลขนี้สะท้อนถึงนโยบายที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ “หนี้ครัวเรือน” ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน แม้ว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง ต่างจากการเป็นหนี้บ้านที่อยู่อาศัย เมื่อศรษฐกิจโตขึ้นทำให้มูลค่าบ้านสูงขึ้นหนี้ลดลงโดยอัตโนมัติ

เศรษฐกิจไทยวันนี้ “อาการน่าเป็นห่วง” กำลังถอยหลังลงคลองเรื่อยๆ เหลือแค่เครื่องปั๊มที่ชำรุด อย่าง “ส่งออก” และ “ท่องเที่ยว” เท่านั้น…ที่ยังช่วยพยุงเอาไว้

……………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…. “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img