“ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” น่าจะเหมาะกับนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของ “รัฐบาลเพื่อไทย”
ตอนแรกๆ หาเสียงเริ่มอย่างสวยหรู แต่จนถึงวันนี้ ปีกว่ายังไปไม่ถึงไหน ไม่เพียงย่ำอยู่กับที่ แต่ดูเหมือนจะ “ถอยหลังลงคลอง” เสียด้วยซ้ำ เป้าหมายในการผลักดันนโยบายนี้ แรกๆ พรรคเพื่อไทยก็หวังจะกลายเป็น “พายุหมุนเศรษฐกิจ” วาดภาพสวยหรูว่า จะช่วยหมุนเศรษฐกิจได้ถึง 6 รอบ แต่พอนานวัน จำนวนรอบของพายุหมุนดิจิทัล วอลเล็ต เริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ จาก “พายุดีเปรสชั่น” กลายเป็นแค่ “หย่อมความกดอากาศต่ำ”
อย่างที่เคยบอก ยังไงเสีย “พรรคเพื่อไทยไม่ทิ้งนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตแน่ๆ” เพราะเป็น “นโยบายเรือธง” จะต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ เนื่องจาก เดิมพันด้วยต้นทุนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยค่อนข้างสูง
ฉะนั้น ภายหลังโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รัฐบาลภายใต้การนำของ “อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ยังคงเดินหน้าต่อไป และยังได้ออกมาชี้แจงถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะดำเนินการว่า…
“อาจมีความแตกต่างจากช่วงที่เคยหาเสียงไว้ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลและลงมือทำแล้ว จะมีเรื่องของระบบ ที่ต้องใช้เวลานาน และต้องรอ แต่เศรษฐกิจของประเทศรอไม่ได้ และประชาชนรอไม่ไหว เป้าหมายของในการทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ แล้วกระตุ้นไม่พอ ยังต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่มันมาช้ากว่า”
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป รัฐบาลจึงต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ จากเดิมจะแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้ประชาชน 45 ล้านคน วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท เปลี่ยนมาเป็นเน้นเฉพาะกลุ่ม “กลุ่มเปราะบาง” คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ กลุ่มคนพิการ รวม 14.5 ล้านคน จะได้รับเป็น “เงินสด” คนละ 1 หมื่นบาท ที่จะโอนเข้าบัญชี วันที่ 25 ก.ย.นี้ ซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคได้อย่างหลากหลาย ไม่จำกัดร้านค้าและพื้นที่
แต่ข่าวล่าสุด กระทรวงการคลังแจ้งเลื่อนประกาศผลลงทะเบียนดิจิทัล วอลเล็ต “กลุ่มสมาร์ทโฟน” อย่างไม่มีกำหนด รวมทั้ง เลื่อนลงทะเบียน “กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน” ผ่าน 3 ธนาคารรัฐ ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดเช่นกัน ไม่แน่ใจว่า จะประกาศผลได้เมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาอีกหรือไม่
ส่วน คนทั่วไป รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นตั้งเป้าจะแจก 2 รอบ งวดแรกคนละ 5,000 บาท ที่อาจจะจ่ายเป็น “เงินสด” หากระบบดิจิทัล วอลเล็ตยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และงวดที่ 2 หากระบบเสร็จสมบูรณ์จะจ่ายผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เพิ่มอีกคนละ 5,000 บาท
ขณะที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่า คนทั่วไปยังมีความไม่แน่นอน เพราะยังมีโครงการอื่นๆ ที่สำคัญกว่า โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างระบบสาธาณูปโภค แต่ปีนี้ไม่ทันแน่ๆ
สวนทางกับสิ่งที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าผ่านเว็บไซต์ของพรรคว่า ดิจิทัล วอลเล็ต “ต้องไปต่อ”
ตลอด 1 ปีในยุค “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ต้องเผชิญวิบากกรรมสารพัด มีการตัดแต่งพันธุกรรมกลายพันธุ์ จนจำเค้าโครงเดิมไม่ได้ ตั้งแต่การแจกเงินดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน จนสุดท้ายแจกแบบเงินสดถึงมือชาวบ้านโดยตรง วัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กลายเป็นเยียวยากลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่ได้รับก็เปลี่ยนกฏเกณฑ์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ
ส่วนผลที่ได้รับจากนโยบายนี้ จากข้อมูลที่ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท โดยการแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง กว่า 14 ล้านคนในช่วงเดือนก.ย.นี้ ว่า…
“จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4% และในภาพรวมคาดว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ของทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตราว 2.5%”
“กลุ่มดังกล่าวเมื่อได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ตไป ก็จะทำการใช้จ่ายทันที และเงินจะไหลไปในกลุ่มอาหาร การซื้อของใช้ต่างๆ ภายในพื้นที่ จึงเชื่อว่าอย่างน้อยเงินจะหมุน 2 รอบ ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 4/67 GDP จะขยายตัวได้ 3.5-4% และถ้าหากรัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่องจะทำให้ปี 2568 จีดีพีขยายตัวได้ 3.5-4% และ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 89-89.5% ต่อจีดีพี จากปีนี้ 90.4-90.8% ต่อจีดีพี” ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ
จะเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะความไม่รอบคอบ เพราะเร่งผลิตนโยบายให้ทันหาเสียง อีกทั้งไม่รู้จริง ทั้งในแง่ของการเงิน ไม่รู้ว่าแหล่งเงินมีหรือไม่ ไม่รู้เรื่องข้อกฏหมายว่าทำได้หรือไม่ และไม่รู้จักเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ว่าซับซ้อนแค่ไหน พอทำจริงๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่รีบปักธง เพราะหวังผลทางการเมือง
ที่สำคัญ คนอีก 30 ล้านคนที่ลงทะเบียนผ่ายแอปทางรัฐ ที่ยังตกค้าง ไม่รู้ชะตากรรม ไม่รู้อนาคตนั้น รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะอธิบายคนกลุ่มนี้อย่างไร หากอธิบายไม่ได้ นั่นเท่ากับจะสูญเสียคะแนนจากคนกลุ่มนี้ทันที
“ดิจิทัล วอลเล็ต” ไม่ได้มีผลต่อชะตากรรมคน 30 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังเป็น “วิบากกรรม” และเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ “พรรคเพื่อไทย” และ “นายกฯอิ๊งค์-แพทองธาร” อีกด้วย
……………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)