วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเกม‘พรรคเพื่อไทย’ปลด‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เกม‘พรรคเพื่อไทย’ปลด‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ยังไม่ทันไร “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ก็ออกมาขู่ฟ่อดๆ เตรียมเปิดศึกกับ “แบงก์ชาติ” อีกแล้ว แต่คราวนี้เปลี่ยนคนเล่นมาเป็น “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ทันทีที่รับตำแหน่ง ก็มีทีท่าขึงขังออกสื่อ จะขอไปคุยกับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะเสนอ 3 เรื่องให้ช่วยดูแลเศรษฐกิจและการส่งออก ได้แก่

1.ขอให้ลดดอกเบี้ย

2.จะคุยเรื่องแก้ค่าเงินบาทแข็งค่า

3.ต้องการให้แบงก์ชาติ เข้าไปดูแลการเพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจ

“พิชัย” ยังเหน็บ “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” ทำนองว่า จบจากที่ไหน ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ ทำไมพูดไม่รู้เรื่อง ทั้งที่บทบาทการพูดคุยกับแบงก์ชาติ ควรจะเป็น “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง

พิชัย นริพทะพันธุ์

หากจำกันได้ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา “แพทองธาร” ยืนยันชัดเจนว่า พยายามให้ “แบงก์ชาติ” เป็นอิสระจากรัฐบาล เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลายฝ่ายจึงจับตาว่า พรรคเพื่อไทยมองพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยหรือไม่

จึงไม่แปลกใจทำไม “พิชัย” จึงออกมารับลูกทันทีทันควัน เมื่อ “แพทองธาร” นั่งเก้าอี้นายกฯ หากย้อนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของไทยที่ผ่านมา จะเห็นว่า รัฐบาลโดย “พรรคเพื่อไทย” กับ “แบงก์ชาติ” ขัดแย้งกันมาทุกครั้ง ตั้งแต่ “พรรคพลังประชาชน” จนมาถึง “พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐบาล

ประเด็นหลักที่ขัดแย้งคือ เห็นต่างในเรื่อง “ลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย” เชื้อแห่งความขัดแย้งของทั้งคู่ สืบเนื่องกันมาตลอด เริ่มจากความขัดแย้งสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในนามพรรคพลังประชาชน ก่อนที่จะมาเป็นพรรคเพื่อไทย

คราวนั้น “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ก็เห็นต่างในเรื่อง นโยบายดอกเบี้ย กับ แบงก์ชาติ ในยุค “ผู้ว่าฯธาริษา วัฒนเกส” มาโดยตลอด เนื่องจากช่วงเวลานั้น เงินเฟ้อพุ่งแรง บางเดือนเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึงกว่า 9% แบงก์ชาติจึงขยับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่ง “หมอเลี้ยบ” เห็นว่า น่าจะมีมาตรการอื่นๆ ในการคุมเงินเฟ้อได้และต้องการให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินหนุนนโยบายการคลังของรัฐบาล

ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พรรคเพื่อไทยที่กลายร่างมาจากพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาล “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และรมว.คลัง ก็ขัดแย้งกับแบงก์ชาติในยุค “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ จนมีข่าว “จะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติทุกวัน” มีข่าววงในว่า ในคณะกรรมการแบงก์ชาติ ได้มีการระบุความไม่เหมาะสมไว้แล้ว แต่ก็ปลดไม่ได้

ครั้นในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลในรอบเกือบ 10 ปี ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ในยุคของ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” กับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ได้ประทุขึ้นอีกครั้ง

เศรษฐา ทวีสิน-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ประเด็นที่ขัดแย้งกัน ไม่พ้นเรื่องบีบให้แบงก์ชาติ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” โดย “เศรษฐา” มองว่า การที่ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติยังคงสูง ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย

“พรรคเพื่อไทย” กับ “แบงก์ชาติ” จึงเป็น “คู่กัด” มาโดยตลอด เปรียบเสมือน “ขมิ้นกับปูน” ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน เพื่อไทยในฐานะพรรคการเมือง ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตไวๆ ขณะที่แบงก์ชาติจะมองภาพรวมและมองระยะยาว นโยบายเน้นไปที่เสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นแบบหวังผลสั้นๆ แบบไฟไหม้ฟาง

ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล “หม่อมเต่า” อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เคยเขียนถึงเรื่องนี้ในหนังสือ “สดุดี(คนอื่น)” ว่า อันที่จริงรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ ดูแลการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยตัวเอง และรัฐร่วมเอกชน และดูแลให้งบประมาณรายจ่ายและรายรับขาดดุลในระดับที่สมควรรัฐบาลอยากให้ประเทศรุ่งเรือง แต่เศรษฐกิจไม่ได้เจริญอย่างที่อยาก รัฐบาลก็อยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

“แต่ถ้าแบงก์ชาติทำอะไรไม่พอเหมาะพอดี เช่น ลดดอกเบี้ยหมด จนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ มันอาจจะทำให้เศรษฐกิจเจริญชั่วคราว ทุกคนสร้างคอนโดฯขึ้นมากันใหญ่เลย ทำให้แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้เศรษฐกิจชะลอตัวสักนิด คนสร้างคอนโดฯก็กลัวว่า เดี๋ยวดอกเบี้ยขึ้นอีกจะขายคอนโดฯไม่ได้”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ

ขณะที่ “ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของแบงก์ชาติว่า “หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียหลักการของการมองยาว ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา เช่น งานวิจัยของ IMF ในปี 2566 พบว่าประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า และประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ”

ฉะนั้นทั้ง “แบงก์ชาติ” และ “รัฐบาล” ควรรู้บทบาทหน้าที่ของกันและกัน และมีกติกาที่เหมาะสม ที่จะถ่วงดุลกัน

“ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” ต้องมีอิสระ คือรัฐบาลปลดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะปลดทุกคน ที่พยายามสร้างเสถียรภาพในเศรษฐกิจ แม้กฎหมายให้อำนาจคณะรัฐมนตรีปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ แต่ไม่ง่าย เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้แน่นหนา

ที่สำคัญการที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ขัดแย้งกับแบงก์ชาติมาตลอด จนดูเหมือนว่า ไม่เชื่อในหลักการความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง

………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img