วันอังคาร, พฤศจิกายน 5, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“หนี้ครัวเรือนไทย” ทำไมแก้ยาก!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หนี้ครัวเรือนไทย” ทำไมแก้ยาก!!

“หนี้ครัวเรือนไทย” วันนี้ ถูกจัดอันดับสูงอันดับ 7 ของประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในโลก และติดอันดับท็อปเท็น มานานหลายปี ในเอเชียจะเป็นรองแค่ “เกาหลีใต้” และ “ฮ่องกง” เท่านั้น

คาดกันว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่น้อยกว่า 10 ปี ต้องบอกว่า อาการหนักจริงๆ

มาตรการที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของรัฐ มาตรการของแบงก์ชาติ ก็เกาไม่ถูกที่คัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นปัญหาชั้นเดียว-เชิงเดียว แต่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนหลายมิติ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง “พฤติกรรมของคนไทย” เรื่อง “นโยบายรัฐ” ที่สร้างภาระตามมา และ ปัจจัยที่คาดไม่ถึงต่างๆ อีกมากมาย

ข้อมูลล่าสุดจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์ฯ” พบว่า ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในโตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.8

แม้จากรายงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบอกว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การกู้ยืมไม่ได้มีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย” แปลความได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดหนี้ครัวเรือนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม

สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนไทยในอดีต ที่ยังคงสูง ด้านหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมคนไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ คนไทยติดนิสัย ช้อปง่าย-จ่ายแหลก-แดกด่วน ตกเป็น “ทาสลัทธิบริโภคนิยม” ดังนั้นแม้ในช่วงหลังๆ ต้องเจอวิกฤติเศรษฐกิจก็ ไม่มีการปรับตัว ยังคงมีนิสัยติดหรูอยู่สบาย เป็นพวกรสนิยมสูง รายได้ต่ำ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมไทยยุคใหม่ พบว่า คนไทย 1 ใน 3 มีพฤติกรรมติดหรู จะเห็นได้จากการบริโภคตลาดกลุ่มสินค้าหรูหราเติบโตมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการให้รางวัลชีวิต การเฉลิมฉลอง หรือการอวดกันในโซเชียลมีเดีย

รายงานของสภาพัฒนฯ เปิดเผยในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า การใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะตัวบุคคลที่ขาดความยับยั้งชั่งใจในการซื้อสินค้า โดยไม่คำนึงถึงรายรับของตนเอง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่สามารถซื้อสินค้าในช่องทางโซเชียลมีเดีย แบบผ่อนไปใช้ไปและการผ่อนครบรับของ ซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว นำไปสู่การก่อหนี้ได้ง่ายขึ้น

สะท้อนจาก หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 163,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ กลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต ที่มีหนี้เสียและมีหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ร้อยละ 4.13 ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ทำให้ความสามารถผ่อนชำระหนี้ลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งของการก่อหนี้ เกิดจาก พฤติกรรมการบริโภคที่ติดหรู นั่นเอง

ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว นำไปสู่การก่อหนี้ใหม่ เช่น โฆษณาชวนเชื่อให้ผ่อนบัตรคอนเสิร์ต ในอัตรา 0% นาน 10 เดือน หรือการจูงใจให้ผ่อนสินค้าแบรนด์เนมผ่านแอปพลิเคชัน ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ล้วนสะท้อนการใช้จ่ายของประชาชนบางส่วนในยุคปัจจุบัน ที่นิยมใช้จ่ายเกินรายได้ ส่งผลให้ต้องใช้เงินในอนาคต กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและอาจก่อให้เกิดหนี้เสียในที่สุด ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมคนไทยล้วนๆ

ขณะที่ “นโยบายรัฐบาล” เอง ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิด หนี้ครัวเรือน หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้วหรือก่อนปี 2553 หนี้ครัวเรือนไทย ยังอยู่แค่ 60% ต่อ GDP เท่านั้น แต่ระหว่างปี 2553-2556 หนี้ครัวเรือนไทย เริ่มดีดตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จาก “มาตรการรถยนต์คันแรก” ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่อใจให้ชาวบ้านกู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถคันแรก

มิหนำซ้ำในปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ได้ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือน ที่อยู่อาศัยเสียหายอย่างหนัก ประชาชนต้องกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายและซ่อมแซม ผลกระทบหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย พุ่งกระฉูดจากระดับ 60% กลายเป็น 80% ในระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

ที่สำคัญในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ สามารถรองรับแรงงานและครอบครัวกว่าสิบล้านคน ต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้รายได้ของไทยหายไปอย่างมาก หนี้ครัวเรือนไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้ง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มจากประมาณ 80% ไปเป็น 90% อย่างรวดเร็ว

แม้ภายหลังการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย คนเริ่มมีงานทำ รายได้เริ่มกลับมา แต่ต้องเจออัตราดอกเบี้ยสูง ลูกหนี้ต้องแบกรับภาระ ทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้น้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา โตต่ำกว่าเป้า GDP เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3 การที่ GDP ต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้คนไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่โตตามภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงต้องก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอย

ในห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาไทยโชคร้ายอยู่ในภาวะทศวรรษที่สูญหาย ทั้งรัฐบาลอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ และรัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสากลบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลไม่ใส่ใจแก้ปัญหา ปล่อยปละละเลย ล้วนเป็นปัจจัยทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยากขึ้น

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img