วันอังคาร, พฤศจิกายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ปราบโกงออนไลน์’บทเรียนจากสิงคโปร์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ปราบโกงออนไลน์’บทเรียนจากสิงคโปร์

ทุกวันนี้ “ทุกข์ของคนไทย” อย่างหนึ่งที่ไม่ใครเหลียวแล นั่นคือ การถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องคอยหวาดผวากับพวก “มิจฉาชีพ” ที่เป็น “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรมาหลอกลวง จนไม่มีใครกล้ารับโทรศัพท์ ไม่กล้ารับพัสดุไปรษณีย์ เจ้าของบัญชีที่มีเงินฝากในธนาคารโดนมิจฉาชีพหลอกให้ไปกดลิงก์หรือคิวอาร์โค้ด สูญเงินเกลี้ยงบัญชีเงินฝากที่หามาทั้งชีวิต บางรายหมดเนื้อหมดตัวกันเลยทีเดียว

น่าแปลกใจว่า คนที่โดนหลอกส่วนใหญ่ มักจะเป็น “คนชั้นกลางลงมา” ซึ่งพอจะมีเงินในบัญชี หรือ “พ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย” อีกกลุ่มที่เป็นเป้าหมายแรกๆ ของบรรดามิจฉาชีพคือ “ข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุ” ว่ากันว่า รายชื่อข้าราชการเกษียณหลุดมาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนชาวบ้านข้อมูลจะรั่วไหลจากช่องทางที่ไปทำธุรกรรมซึ่งให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติ บ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ เลขประจำตัวบัตรประชาชน แล้วพนักงานบางคนก็จะนำข้อมูลลูกค้ามาขายให้กับขบวนการมิจฉาชีพ

จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65-31 ต.ค.67 ความเสียหายมีมูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 77 ล้านบาทต่อวัน ประเภทคดีที่แจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3.หลอกให้กู้เงิน 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์

“สภาพัฒน์” ประเมินความเสียหายที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คร่าวๆ ไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และเมื่อปีที่แล้ว คนไทยต้องรับโทรศัพท์ หรือ SMS จากมิจฉาชีพสูงถึง 79 ล้านครั้งซึ่งมากที่สุดในเอเชีย

นอกจากนี้ ยังหลอกลวงประชนด้วยการสร้างเพจปลอมออนไลน์ เช่น หลอกลวงว่า “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” เปิดเฟชบุ๊กใหม่ชื่อ Government Office Region หรือ หลอกว่า “บางจาก” เปิดจองหุ้นรับปันผลสูงถึง 20% รับรองโดย ก.ล.ต. อื่นๆ เป็นต้น

ชาวบ้านต้องผวากับพฤติกรรมของเหล่ามิจฉาชีพ ที่มากันหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง และยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่ประชาชนเดือดร้อนและเศรษฐกิจเสียหายมหาศาล

ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “สิงคโปร์” เห็นความสำคัญเรื่องนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกกฎหมายใหม่ให้ธนาคารและบริษัทโทรศัพท์ ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่เรียกว่า Shared Responsibility Framework (SRF) ในวันที่ 16 ธ.ค.67 นี้

กฏหมายใหม่นี้จะเน้นไปที่การหลอกลวง เช่น เว็บไซต์ปลอม อีเมลปลอม หรือ SMS ปลอม ที่มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (เช่น บัญชีธนาคาร) ของเหยื่อ

เนื่องจาก “ธนาคาร” เป็นผู้ดูแลเงินของ “ลูกค้า” จึงต้องมีหน้าที่หลักในการป้องกันธุรกรรมฉ้อโกง หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ภายใต้กรอบ SRF ก็จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ลูกค้าได้รับ ส่วน “บริษัทโทรศัพท์” ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งพวกมิจฉาชีพจะใช้ในการสื่อสารโดยส่งข้อความ SMS ให้เหยื่อ ก็ต้องมาร่วมรับผิดชอบเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ “ธนาคาร” ต้องมีระบบตรวจจับธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถอนเงินจำนวนมากออกจากบัญชีลูกค้าอย่างรวดเร็ว และลูกค้าต้องได้รับแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์สำหรับธุรกรรมขาออกทั้งหมด รวมทั้งธนาคารต้องจัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับลูกค้าในการรายงานการถูกหลอกลวงได้ตลอดเวลา

ขณะที่ “บริษัทโทรศัพท์” ก็ต้องติดตั้งตัวกรองป้องกันการหลอกลวงในเครือข่าย เพื่อบล็อกข้อความ SMS ที่มีลิงก์ฟิชชิ่ง มีผู้รวบรวม SMS ที่ได้รับอนุญาตทำการคัดกรอง SMS และบล็อก SMS ที่น่าสงสัย ข้อความ SMS จะส่งถึงผู้ใช้บริการได้ก็ต่อเมื่อผ่านการคัดกรองจากผู้รวบรวม SMS ที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว แต่บริษัทโทรศัพท์กระทำบกพร่อง บริษัทโทรศัพท์ก็จะต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ปัญหานี้หากธนาคารและค่ายมือถือร่วมมืออย่างจริงจัง ย่อมแก้ได้แน่นอน โดยเฉพาะธนาคาร เพราะลักษณะของบัญชีที่เรียกว่า “บัญชีม้า” สังเกตได้จาก “จะมีเงินโอนเข้าก้อนใหญ่และโอนออกอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ” หากบัญชีไหนมีลักษณะเข้าข่าย ธนาคารต้องสร้างระบบตรวจสอบ

หากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเห็นว่า ธนาคารไหนมี “บัญชีม้า” ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน และต้องลงโทษอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันค่ายมือถือพฤติกรรมของคอลเซ็นเตอร์นั้น ตรวจสอบไม่ยาก เช่นกัน

ในยุโรปบางประเทศที่ใส่ใจเรื่องนี้ เวลาโอนเงินทางออนไลน์ ธนาคารจะไม่ปล่อยให้ผ่านง่ายๆ จะโทรมาสอบถามข้อมูลจากผู้โอน ให้ยืนยันตัวเลขเงินที่โอน ว่าตรงกันไหม กว่าจะทำธุรกรรมเสร็จ กว่าเงินจะถึงมือปลายทาง ต้องใช้เวลาวันถึงสองวัน โดยธนาคารเขาจะใช้ AI ตรวจสอบก่อนว่า มีธุรกรรมผิดปกติหรือไม่ และจะมีทีมเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกค้าโดยตรง แม้จะต้องลงทุน แต่ก็คุ้มค่า

“บ้านเรา” ปล่อยปละละเลยปัญหานี้มานาน ถึงเวลาแล้วทั้ง “กระทรวงดีอี” “แบงก์ชาติ” ที่กำกับดูแลแบงก์พาณิชย์และ “กสทช.” ที่กำกับดูแลบริษัทโทรศัพท์มือถือ ต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img