การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สร้างความคึกคักสปอร์ตไลท์ทางการเมืองฉายไปที่ “อุดรธานี” เมืองหลวงของคนเสื้อแดง เพราะเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ทั้งที่ในวันเดียวกัน มีการเลือกตั้งที่ “นครศรีธรรมราช” และ “เพชรบุรี” และก่อนหน้า 1 วัน ก็มีการเลือกตั้งที่ “สุรินทร์”
เท่าที่สังเกตการเลือกตั้งนายก อบจ.แต่ละจังหวัด ทั้งก่อนหน้านี้ แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเป็น “เหล้าเก่าขวดเก่า” แค่มีสลากใหม่ มีโลโก้พรรคการเมือง มาแปะข้างขวด ซึ่งแต่เดิมสนามอบจ. เป็นของการเมือง “บ้านใหญ่” ในท้องถิ่น
แต่เที่ยวนี้ “ผู้สมัครนายกอบจ.” หันมาติดโลโก้พรรคการเมืองแค่นั้น แต่ไม่มีสาระใหม่ นโยบายแต่ละอย่าง มีแต่ใช้เงินงบประมาณ ไม่มีนโยบายในการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ให้คนท้องถิ่นอยู่ดีกินดี
ยิ่งตอนที่พรรคเพื่อไทยยกคณะชุดใหญ่ไปหาเสียงที่อุดรฯ กลับไป “ปลุกผีประชานิยม” ซึ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ แทนที่จะชูนโยบายเศรษฐกิจเพื่อท้องถิ่นจริงๆ
น่าเสียดายที่ผ่านมา การผลักดันให้ “ท้องถิ่น” มีอำนาจจัดการตัวเอง ยังไม่ไปถึงไหน ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง ทั้งที่โมเดลประเทศที่เจริญแล้วในหลายๆ ประเทศ การเมืองระดับชาติ อย่างอิตาลี ญี่ปุ่น คล้ายไทย ประเทศเขาเจริญเพราะ “ท้องถิ่นเข้มแข็ง”
ประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนให้อิสระ “ท้องถิ่น” ในการบริหารจัดการตนเอง “ผู้นำท้องถิ่น” จะเป็น “ผู้นำที่มีแนวคิดผู้ประกอบการ” บ้านเราแม้จะมีองค์กรท้องถิ่นหลายระดับทั้ง อบจ.-อบต.-เทศบาล แต่เป็นแค่รูปแบบ อำนาจต่างๆ ยังอยู่ในมือ “ส่วนกลาง”
หากเทียบการเมืองในภาพใหญ่ของไทยคล้ายๆ กับ “อิตาลี” ที่รัฐบาลกลางไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เลือกตั้งบ่อย แต่อิตาลีกลับมีความเจริญและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอัน 4 ของยุโรป ความลับคือ “ท้องถิ่นเขาเข้มแข็ง”
รัฐบาลกลางอิตาลีให้อำนาจท้องถิ่น บริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ อย่างกรณีนักลงทุนต่างประเทศจะเข้าไปลงทุน สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากองค์กรท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ทำให้มีความคล่องตัว ส่วนของไทยต้องผ่านการอนุมัติจาก “บีโอไอ” เท่านั้น
ต่างจาก ประเทศไทย เป็นรัฐใหญ่ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน อยู่ที่ส่วนกลางถึง 60% ข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง 21% และที่เหลืออีก 18% หรือเพียง 2 แสนคนอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น อัตราความเจริญจึงกระจุกตัว
ตรงข้ามกับ “ญี่ปุ่น” ที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2 ล้านคน และมีข้าราชการส่วนกลางเพียง 5 แสนคน ส่งผลให้ความเจริญกระจายตัว ทำให้รายได้ต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 7.8 พันเหรียญสหรัฐ
อันที่จริงไม่ต้องดูแบบอย่างไกลถึงต่างประเทศ ดูแค่ “บุรีรัมย์ โมเดล” แม้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นจะเหมือนกับทุกจังหวัด แต่ “บุรีรัมย์” พัฒนาอย่างรวดเร็ว แบบไม่น่าเชื่อ ทำให้เห็นถึง “พลังของท้องถิ่น” แม้ยังไม่ได้บริหารตนเองเต็มรูปแบบ แต่อาศัย ผู้นำท้องถิ่น (ไม่ใช่ทางการ) ที่มี “บารมี” ขึ้นมานำ จนสามารถพลิกจากจังหวัดยากจนอันดับต้นๆ ของประเทศ สภาพภูมิศาสตร์ที่มีแต่ความแห้งแล้ง กลับเจริญขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ต้องยอมรับ “บุรีรัมย์” เติบโตได้เพราะบารมี “เนวิน ชิดชอบ” ที่พัฒนาบุรีรัมย์อย่างจริงจัง ทำให้บุรีรัมย์เติบโตแบบก้าวกระโดด ผลิตภัณฑ์มวลรวม “จีดีพี.ของจังหวัด” ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา โตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ก่อนช่วงโควิดระบาดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่า 3 ล้านคนต่อปี ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาคึกคักเหมือนเดิม
ปัจจัยสำคัญคือ “เนวิน” มีลักษณะของ “ผู้นำแบบผู้ประกอบการ” ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ “กีฬา” และ “การท่องเที่ยว” เป็นโมเดลในการพัฒนา ทำให้มีการลงทุนไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนบุรีรัมย์ทันตาเห็น จนปัจจุบันบุรีรัมย์ กลายเป็น “เมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา” โด่งดังไม่เฉพาะคนไทยที่รู้จักแต่อย่างน้อยๆ ก็ดังระดับเอเชียไปแล้ว
หากจะถอดรหัสความสำเร็จของ “บุรีรัมย์ โมเดล” เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในการพัฒนาท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จ ต้องหา “คอนเซ็ปต์” ของท้องถิ่น ให้ได้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน นอกจากนี้จะต้องมี “การแบ่งปัน” หรือ “การกระจายรายได้” กลับสู่สังคมและชุมชน Profit Sharing หรือ Sharing Economy โดยใช้กีฬาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท เกิดขึ้น แม้แต่ชาวบ้านที่มีบ้านพัก ก็สามารถแบ่งให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการได้
ในบ้านเรามี “ผู้นำท้องถิ่น” ไม่น้อย ที่มี “วิสัยทัศน์” กว้างไกล สามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่ถูกจำกัดด้วย “ระบบราชการ” และ “อำนาจจากส่วนกลาง” อีกทั้งท้องถิ่นถูกสร้างภาพเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จนน่ากลัว
หากพรรคการเมืองต่างๆ จะยึดอำนาจการเมืองท้องถิ่นจริงๆ ต้องช่วยกันยกเครื่อง “ท้องถิ่น” ให้มีอำนาจจัดการตัวเอง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจแข็งแรง ลดความเหลื่อมล้ำกรุงเทพกับต่างจังหวัด
……….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…..“ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)