หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตามกำหนดการเดิม วันที่ 12 ธันวาคมนี้ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร จะแถลงผลงานรัฐบาล หลังจากบริหารประเทศมาครบ 3 เดือน แต่เท่าที่ดูตลอด 3 เดือนที่รัฐบาลแพทองธาร รับไม้ต่อจากรัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แม้แต่ “นายกฯเศรษฐา” ที่อยู่มาเกือบปี ก็ยังมะงุมมะงาหรา นโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง หวังจะเป็นอาวุธลับแลนด์สไลด์อย่าง “ดิจิทัล วอลเล็ต” สุดท้ายก็ไม่เหลือเค้าโครงเดิม
ในยุค “นายกฯแพทองธาร” โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ก็เล่นแร่แปรธาตุ จากเดิมแจก 1 หมื่นบาททุกคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แจกตูมเดียว 50 ล้านคน สุดท้ายก็แบ่งเป็นเฟส ในเฟส 1 เหลือแค่กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน จากเดิมจะแจกเป็น “เงินดิจิทัล” ก็เปลี่ยนเป็น “แจกเงินสด” แทน
ตอนหาเสียงประกาศหนักแน่นว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านค้าชุมชนและต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรเท่านั้น สุดท้ายก็เปิดทางร้านสะดวกซื้อก็เข้าร่วมได้
เฟสแรกจบไปแล้ว แต่เฟส 2 ที่แจกให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนจนจำเค้าโครงเดิมไม่ได้ เดิมคาดหวังว่าจะแจกเงินก้อนใหญ่ตูมเดียวจบ หวังให้เป็น “พายุหมุน” ทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ สร้างแรงกระเพื่อมให้จีดีพี.โตสัก 5% ในที่สุดก็เป็นแค่ “ลมบ้าหมู” กระตุ้นได้แค่กะปริบกะปรอย ปีนี้ทั้งปีจีดีพี.ไม่เกิน 3%
ตอนหาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” ชู “ซอฟต์ พาวเวอร์” ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์ พาวเวอร์ โดยประกาศว่า จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง
แรกๆ ดูคึกคัก ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งราชการ นักธุรกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัย…มาช่วยงาน เป็นกรรมการด้านต่างๆ 12 สาขา และยังมีอนุกรรมการชุดต่างๆ อีกหลายคณะ ใช้คนนับร้อย งบประมาณก้อนแรก 5 พันล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ตำพริกละลายแม่น้ำเช่นเดียวกัน
แต่ที่กำลังเป็นดรามากลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” นั่นคือ นโยบายปฏิรูปภาษีของรัฐบาล ที่ “พิชัย ชุณหวชิระ” รองนายกฯและรมว.คลัง โยนก้อนหินถามทาง โดยจะขึ้นภาษีแวตจากปัจจุบัน 7% เป็น 15% ลดภาษีนิติบุคคลเป็นภาษีที่บรรดาธุรกิจ ห้าง ร้านต่างๆ จะต้องเสีย เดิม 20% เหลือ 15% อ้างว่าเพื่อจูงใจการลงทุน ส่วนเงินได้บุคคลธรรมดาให้เสียอัตราเดียวถ้วนหน้า 15% และไม่มีหักค่าใช้จ่าย และไม่มีหักลดหย่อน รัฐบาลอ้างว่า การปฏิรูปภาษีครั้งนี้เป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย”
ทันทีที่นโยบายนี้ออกมา ก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการ “ขูดรีดคนจน-อุ้มคนรวย” ภาษีแวตเป็นภาษีที่คนจนจ่ายแพงกว่าคนรวย เพราะคนจนรายได้น้อย แต่ต้องเสียภาษีแวต 7% เท่ากับคนรวย และเป็นการเพิ่มจาก 7 เป็น 15% เพิ่มพรวดเดียว ร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์
ส่วน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เดิมคนรวยเสียภาษี 35% นโยบายนี้ให้เสีย 15% ประหยัดได้ 20% คนมีรายได้น้อยที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ต้องเสีย แต่คนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ทำงานออฟฟิศ ที่มีรายได้ตามเกณฑ์กำหนดต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% เท่าเดิม
สมมติว่า คนรวยมีรายได้ เดือนละ 1 ล้านบาท แต่เดิมเสียภาษี 35% คิดเป็นเงินที่ต้องเสียภาษี 4,200,000 บาทต่อไปจ่ายภาษ๊แค่ 15% กับต้องจ่ายแค่ 1,800,000 บาทเท่านั้น ประหยัดเงินได้ถึง 2,400,000 บาท อย่างนี่ไม่เรียกว่า “อุ้มคนรวย” ได้อย่างไร
แนวคิดปฏิรูปภาษีของรัฐมนตรีคลัง ได้รับการวิพากษ์วิจารย์อย่างหนัก โดยเฉพาะ ภาษีแวต เพราะกระทบกับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดมี “นายกฯแพทองธาร” ออกมาดับกระแส โดยโพสต์เฟซ และ X ว่า…
1.ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15%
2.กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่นๆ ใช้เวลาศึกษาและปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปบางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี
4.นโยบายหลักของรัฐบาลคือ การลดรายจ่ายของประชาชน ลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐควบคู่ไปกับการหาโอกาสจากการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชน ทั้งหมดนี้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนคนไทย
ภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญ หากจะทำจริงต้องปิดเป็นความลับเพราะมีคนได้มีคนเสีย และคนที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักการเมือง นักธุรกิจ แต่คนที่เสียหนีไม่พ้นชาวบ้านตาดำๆ
ไม่แปลกใจเลย ทำไมบริหารประเทศมา 3 เดือน จึงยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทำอะไรติดๆ ขัดๆ เข้าตำรา “ชักตื้นติดกึ๊ก-ชักลึกติดกั๊ก”
………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)