วันพุธ, มกราคม 8, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“1 อำเภอ-1 ทุน”ลงทุนสูง ตอบแทนต่ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“1 อำเภอ-1 ทุน”ลงทุนสูง ตอบแทนต่ำ

ก่อนสิ้นปี 2567 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แถลงผลงานในโอกาสบริหารประเทศครบ 3 เดือน “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บอกจะนำนโยบายประชานิยมในอดีต หลายๆ นโยบายมาปัดฝุ่นใหม่ พูดง่ายๆ เป็น “ประชานิยมปะผุ” นั่นเอง

หนึ่งในโครงการที่จะลุยเดินหน้าในปีนี้ได้แก่ โครงการ “1 อำเภอ-1 ทุน” ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในโครงการ “ประชานิยม” สมัย พรรคไทยรักไทย ของ “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” มาก่อน

แต่ก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมรัฐบาลนี้จึงหยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่ ทั้งที่มีเรื่องสำคัญๆ ต้องทำอีกมากมาย

ต้องยอมรับว่า โครงการ “1 อำเภอ-1 ทุน” เป็นโครงการหนึ่งที่ล้มเหลวและต้องล้มเลิกไปในที่สุด ตอนเริ่มโครงการใหม่ๆ ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้เงินของ “กองสลากฯ” แทน แต่สุดท้ายก็กลับมาใช้ “เงินงบประมาณ” เหมือนเดิม

เคยมีการวิจัยเชิงประเมินผลโครงการนี้มาแล้ว ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า เป็นโครงการที่มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก แม้โดยหลักการนโยบาย “1 อำเภอ-1 ทุน” เป็นเรื่องที่ดี เป็นการให้โอกาสเด็กเรียนดี แต่อาจจะด้อยโอกาส ประเภทเรียนเก่ง แต่ยากจน มีโอกาสยกระดับการศึกษา ยกระดับชีวิต

แต่ถ้าลองมาทบทวนข้อดี-ข้อเสียด้วยความรอบคอบและชอบธรรม จะเห็นว่า “ข้อเสีย” น่าจะมากกว่า“ข้อดี”

“ข้อดี” นโยบายเรื่องนี้เท่าที่เห็น น่าจะเป็นการส่งเสริมให้ “เด็กเรียนดี” แต่ยากจน ในระดับอำเภอได้มีโอกาสไปเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปหาประสบการณ์เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ในต่างบ้านต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม  

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศต่างๆ ที่โครงการนี้ส่งเด็ก 1 อำเภอ 1 ทุนไปในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยนั้น ไม่ได้ไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น อังกฤษ, สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ฯลฯ ตรงกันข้ามกลับส่งไปประเทศที่มีภาษาของตัวเอง อย่างในยุโรป เช่น เยอรมัน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ หรือในเอเชียก็เช่น จีน, เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ

ไม่รู้ว่า…ทำไมถึงเลือกประเทศเหล่านี้ แค่เรื่องภาษาที่จะต้องใช้ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ก็เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง เพราะภาษาของประเทศเหล่านี้ มักไม่ค่อยมีการสอนในบ้านเรา ถ้าจะมีก็เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ อย่างภาษาเยอรมัน ทำให้โอกาสเด็กในต่างจังหวัด ต่างอำเภอที่ได้รับทุน แทบจะไม่ได้เตรียมตัวด้านภาษาก่อนเดินทาง ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรม ทำให้มีปัญหาการปรับตัว ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย

จึงไม่แปลกใจ “เด็กในโครงการ” เมื่อไปถึงประเทศปลายทาง จึงประสบความยากลำบากในการที่จะสื่อสารกับคนท้องถิ่น และยากขึ้นไปอีก เวลาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่อาจารย์บรรยายด้วยภาษาของบ้านเขา จึงฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เด็กหลายคนมีปัญหาเด็กเรียนไม่จบ เกิดความท้อถอย ขอกลับบ้านก่อนกำหนดมีเรื่อยๆ

เคยทราบข้อมูลจากเด็กไทยที่ไปเรียนเยอรมันว่า มีเด็กในโครงการ “1 อำเภอ-1 ทุน” ไม่น้อย เรียนไม่จบ ต่อมาโครงการยกเลิก ก็ไม่มีทุนเรียนต่อ จะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ “เคว้ง” ต้องทำงานหนัก เพื่อให้ดำเนินชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ แบบไม่มีอนาคต  

มีส่วนน้อยที่เรียนจบปริญญาตรี บางคนปริญญาโท แต่ต้องใช้เวลานานเกือบๆ สิบปี โครงการเลิกต้องทำงานหาเงินเรียนเอง เมื่อจบแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่กลับมาทำงานในเมืองไทย จะทำงานที่เยอรมันหรือในยุโรป บางคนมีครอบครัวที่นั่น เพราะทุนที่ได้รับไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เรียกว่า เงินงบประมาณที่จ่ายไป ไม่ได้กลับคืนสู่สังคม

อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาและพูดถึงกันมาก คือปัญหาเรื่อง “เด็กเส้น” เพราะเด็กที่ได้ทุนจำนวนไม่น้อย ไม่ใช่เด็กยากจนจริงๆ และไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่เป็น “ลูก-หลานหัวคะแนนใหญ่ของพรรคการเมือง” ที่เป็นผู้คัดเลือก ทำให้ไม่ได้เด็กตามที่ต้องการ

อย่างที่บอกโครงการนี้ แรกๆ ใช้เงินกองสลาก ต่อมาใช้เงินงบประมาณ จึงเท่ากับเป็นการลงทุนมหาศาล และให้ผลตอบแทนค่อนข้างตํ่า ถ้าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับเด็กนักเรียนไทยคนอื่นๆ ด้วย

อย่าลืมว่า “ระบบการศึกษา” ในบ้านเรายังมีปัญหาอีกมากมาย รองบประมาณ รอการแก้ไข เด็กด้อยโอกาสเรียนดีแต่ยากจนที่อยู่ในชนบทถิ่นทุรกันดาร เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีอีกจำนวนมาก เด็กนักเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนอาหาร เครื่องแบบนักเรียนก็มีไม่น้อย รวมถึงอุปกรณ์การศึกษาในโรงเรียนห่างไกลความเจริญ ก็ยังขาดแคลน เอางบประมาณมาใช้กับสิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

อันที่จริงไม่เฉพาะกับโครงการ “1 อำเภอ-1 ทุน” เท่านั้น ที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนมหาศาล รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิควิชาการต่างๆ ที่แต่ละปีใช้งบประมาณไม่น้อย เป็นแค่ “ครีมหน้าเค้กระบบการศึกษาไทย” แต่ไม่ได้ช่วยให้ระบบการศึกษาไทยโดยรวม พัฒนาขึ้นแต่อย่างใด

อยากจะฝาก “รัฐบาลอิ๊งค์” หากจะปัดฝุ่นโครงการ “1 อำเภอ-1 ทุน” ขึ้นมาจริงๆ ก็ควรทำอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ น่าเชื่อถือดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมองระยะยาวและต้องกลับมาพัฒนาประเทศ

ที่สำคัญอย่าเอา “การเมือง” มาแทรก เด็กที่ไปต้องเก่งและยากจนจริงๆ ไม่ใช่ “เด็กเส้น” ลูกหลานนักการเมือง หัวคะแนน อย่างที่แล้วมา

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐกิจข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img