วันอังคาร, มกราคม 14, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSชาวไร่“เผาอ้อย” แพะรับบาปฝุ่นพิษ PM2.5
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชาวไร่“เผาอ้อย” แพะรับบาปฝุ่นพิษ PM2.5

เวลาย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ทุกๆ ปีสิ่งที่มาพร้อมๆ กันคือ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คนไทยเพิ่งสังเกตและตระหนักไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง ในช่วง 3-4 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะเบาบางลงมาหน่อย อาจเป็นเพราะกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงนั้น ค่อนข้างน้อย การสัญจรไป-มาเบาบาง โรงงานอุตสาหกรรมเดินเครื่องไม่เต็มที่  

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ตรวจเช็กคุณภาพอากาศ USAQI ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครติดอันดับ 8 ที่มีปริมาณฝุ่นพิษมากที่สุดในโลก (7 ม.ค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ (จิสด้า) ก็รายงานว่า พบค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ใน กทม.ทุกเขตพื้นที่เป็นสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

ปีนี้เป็นปีที่ทุกคนให้ความสนใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ในการประชุม ครม.ล่าสุด “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า “ช่วงนี้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการรับซื้ออ้อยเผาของโรงงานน้ำตาลในหลายพื้นที่ ภาพถ่ายดาวเทียมเริ่มเห็นจุดความร้อน Hotspot เพิ่มมากขึ้นในบางจังหวัด ฝุ่นเริ่มมีเยอะขึ้น จึงเน้นย้ำให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำผู้ประกอบการในการรับซื้ออ้อยเผา โดยสั่งการให้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับ ผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย และพืชอื่นๆ รวมทั้ง การประกาศเขตควบคุมมลพิษ”

นอกจากนี้ “นายกฯแพทองธาร” ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบ “ห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ” อย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิกอัพ รถโดยสาร รถบรรทุกขนาดใหญ่รวมถึง รถเมล์ ขสมก.

นับวัน PM 2.5 จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และยังหาทางแก้ หรือทำให้เบาบางลงไม่ได้ อาจเป็นเพราะคลำไม่เจอว่า ปัญหาเกิดจากอะไร แม้แต่ “นายกฯแพทองธาร” ยังพุ่งเป้าตรงไปที่การเผาใบอ้อย เพื่อตัดอ้อยส่งโรงงาน รถบรรทุก รถปิกอัพ รถเมล์ รถโดยสาร ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม  

ทั้งที่มีการศึกษาจำนวนมากจากหลายๆ แหล่ง พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีที่มาจาก 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การเผาชีวภาพในที่โล่ง เช่น การเผาป่า เผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว เผาซังข้าว และการเผาอื่นๆ สอง คือ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุก โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล และ สาม คือ การเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะปีนี้ “เกษตรกรที่เผาอ้อย” กำลังกลายเป็น “จำเลย” ที่คนในสังคมต่างชี้นิ้วประณามว่า เป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิด PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการและเอ็นจีโอ.ก็ตาม

เผาไร่อ้้อย : https://www.mitrpholmodernfarm.com/

เมื่อเป้าพุ่งมาที่การเผาไร่อ้อย หลายๆ ฝ่ายจึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหา เช่น รณรงค์ไม่ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อย ที่ใช้วิธีการเผาใบอ้อยสดก่อนตัด

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมชาวไร่อ้อยต้องเผาอ้อย เพราะใบอ้อยสดมีความคม เมื่อคนงานเข้าไปตัด ก็ถูกใบอ้อยบาด ทั้งเจ็บทั้งแสบ แรงงานจึงหายากไม่มีใครอยากตัดอ้อยใบสด

หากจะใช้รถตัดอ้อย ก็มีค่าใช้จ่ายแพง ทำให้ต้นทุนชาวไร่เพิ่มสูงขึ้น รถแต่ละคันต้องลงทุนสูง ราคาคันละตั้งแต่ 6 ล้านบาท ไปจนถึง 10 ล้านบาท คนที่มีรถตัดอ้อยต้องเป็นนายทุนท้องถิ่น อีกทั้งรถตัดอ้อยมีไม่เพียงพอกับความต้องการ กว่าจะได้ตัดอ้อยป้อนโรงงานได้ ต้องรอคิวนาน ทำให้อำนาจต่อรองชาวไร่น้อยลง ถูกโรงงานกดราคารับซื้อ

ถ้ารัฐบาลจะหาทางออกจริงๆ ควรต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยผ่านชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. เทศบาล วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชาวไร่เข้าถึงรถตัดอ้อยได้ง่าย ในราคาที่สมเหตุสมผล

Sugar,Bags,Are,Loading,In,Hold,Of,Bulk-vessel,At,Industrial

“ใครก็ตาม” ที่ออกมาชี้นิ้วประณาม “ชาวไร่อ้อย” ต้องไม่ลืมว่า อ้อยและน้ำตาลของไทยมีคุณูปการต่อเศรษฐกิจไม่น้อย น้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลกนำเงินรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมหาศาล

แต่อดสงสัยไม่ได้ว่า การเผาอ้อยของชาวไร่ ทำกันมานานหลายปีดีดัก ตั้งแต่ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 แต่ทำไมเพิ่งถูกจับมาเป็น “แพะ” ไม่กี่ปีมานี่เอง ทำไม…ไม่มีใครตั้งข้อสงสัย “บรรดาโรงงานอุตสาหกรรม” ที่ปล่อยควันจากปล่องทุกวัน ว่ามีสารพิษหรือไม่

ถ้าจะวัดความรุนแรงจากการเผาอ้อย “เผาตอซังข้าว” น่าจะน้อยกว่า “โรงงานอุตสาหกรรม” ที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯหลายเท่า หรือเป็นเพราะเสียงของ “ชาวไร่-ชาวนา” ไม่ดัง

…………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img