วันพุธ, กุมภาพันธ์ 5, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSปลุก‘ท้องถิ่นเข้มแข็ง’ ทางออกจากวิกฤต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลุก‘ท้องถิ่นเข้มแข็ง’ ทางออกจากวิกฤต

คงไม่มี การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งไหน จะคึกคักได้รับความสนใจเท่าการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเลือกตั้งเพียง 47 จังหวัด เนื่องจากมีพรรคการเมืองใหญ่หวังปักธงท้องถิ่น ทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” จัดทัพหลวงสู้เต็มที่ “พรรคภูมิใจไทย” ที่แอบสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ผ่านเครือข่าย “บ้านใหญ่” ทำให้การสู้ในสนามการเมืองท้องถิ่นรอบนี้ มีสีสันกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ไหนๆ พรรคการเมืองเข้ามาลุยสนามท้องถิ่นเต็มตัว อย่าให้เป็นแค่หวังสร้างฐานการเมือง เพื่อเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า แต่ควรจะอาศัยจังหวะ “เหล็กกำลังร้อน” ปฏิรูปการเมืองท้องถิ่นกระจายอำนาจ ให้ “ท้องถิ่นเข้มแข็ง” ลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่าง “เมืองหลวง” กับ “ต่างจังหวัด” หรือระหว่าง “จังหวัดใหญ่” กับ “จังหวัดเล็ก”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็น “คนหัวโต” คือ ความเจริญมากระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดยังยากจน สะท้อนจาก “รายได้ของแต่ละพื้นที่” แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานคร มีรายได้ต่อหัวที่ 5.8 แสนบาทต่อปี, ระยอง 8 แสนบาทต่อปี, นราธิวาส 5.5 หมื่นบาทต่อปี, แม่ฮ่องสอน 6.3 หมื่นบาทต่อปี, หนองบัวลำภู 5.9 หมื่นบาทต่อปี

ประเทศที่เจริญแล้ว อย่าง อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี การเมืองระดับชาติคล้ายๆ ไทย แต่ปัจจัยที่ทำให้ประเทศเจริญ เพราะให้ความสำคัญกับ “การกระจายอำนาจ” สร้าง “ท้องถิ่นเข้มแข็ง” ให้อิสระ “ท้องถิ่น” ในการบริหารจัดการตนเอง

“อิตาลี” การเมืองไทยคล้าย “ไทย” มากที่สุด รัฐบาลกลางอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ เลือกตั้งบ่อยๆ แต่อิตาลีเจริญมากๆ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอัน 4 ของยุโรป ความลับคือ “ท้องถิ่นเขาเข้มแข็ง” รัฐบาลกลางให้อำนาจท้องถิ่น บริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ นักลงทุนต่างประเทศจะเข้าไปลงทุน สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากองค์กรท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลกลาง จึงมีความคล่องตัวดึงดูดนักลงทุนกระจายการลงทุนทั่วประเทศ

หรือกรณี “กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ” ที่มีการสร้างโปรแกรมฝึกอาชีพในเมือง ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต ได้แก่ สาขาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ เพราะให้ท้องถิ่นคิดและจัดการ

ประเทศเหล่านี้ ให้อำนาจท้องถิ่นมีอิสระจัดการตัวเองเต็มที่ ต่างจากของไทย เป็นรัฐขนาดใหญ่ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน แต่กระจุกอยู่ในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯถึง 60% ข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง 21% และที่เหลืออีก 18% หรือเพียง 2 แสนคนเท่านั้นอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น อัตราความเจริญจึงกระจุกตัว

ตรงข้ามกับ “ญี่ปุ่น” ที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2 ล้านคน และมีข้าราชการส่วนกลางเพียง 5 แสนคน ความเจริญจึงกระจายตัว ส่งผลให้รายได้ต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 7.8 พันเหรียญสหรัฐ

อันที่จริงในบ้านเรามี “ผู้นำท้องถิ่น” ไม่น้อย ที่มี “วิสัยทัศน์” กว้างไกล สามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่ถูกจำกัดด้วย “ระบบราชการ” และ “อำนาจจากส่วนกลาง” อีกทั้งท้องถิ่นถูกสร้างภาพเรื่องการ “ทุจริตคอร์รัปชัน” จนน่ากลัว

ช่วงนี้น่าจะเหมาะที่สุด หากพรรคการเมืองที่มี “อบจ.” ในมือ จะจริงใจกับท้องถิ่นจริงๆ ต้องช่วยกันยกเครื่อง “ท้องถิ่น” ให้มีอำนาจจัดการตัวเอง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้แข็งแรง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัด

ถ้าเศรษฐกิจของท้องถิ่นเข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศก็จะเข้มแข็งไปด้วย ไม่ใช่กองรวมอยู่ที่ส่วนกลางเวลากรุงเทพฯวิกฤต กลายเป็นว่า “วิกฤตทั้งประเทศ” แต่ถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นช่วยแบกรับก็จะผ่อนหนักเป็นเบาได้

อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจที่สอดคล้องความต้องการของท้องถิ่นได้จริง ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ

ประการที่ 1 ต้อง “กระจายอำนาจทางการเมือง” ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นสามารถเลือกผู้นำของตนเองโดยตรง ทำให้มีความยึดโยงกับประชาชน มีความรู้ความเข้าใจพื้นที่และชุมชน อีกทั้งมีความผูกพันและทุ่มเททำงานเพื่อท้องถิ่นตัวเอง ดีกว่าคนที่ส่วนกลางแต่งตั้งมา ตอนนี้บทบาท อบจ.จริงๆ แม้ชาวบ้านเลือกมา แต่ก็ถูกอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด กลบบทบาท

ประการที่ 2 ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจ ในการบริหารจัดการตัวเองมีอิสระในการคิด ตัดสินใจในการบริหารท้องถิ่นบางอย่างแทนที่จะถูกกำหนดจากส่วนกลางทั้งหมด เช่น ให้อำนาจการจัดการ ขยะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาจราจร กระทั่งเรื่องความปลอดภัย อย่างที่บอกคนในท้องถิ่นจะมีความเข้าใจในพื้นที่มากกว่า

ประการที่ 3 สำคัญที่สุด จะต้องกระจายอำนาจทางการคลังให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเอง เพื่อให้มีงบประมาณในการบริหารงานในพื้นที่ของตนเอง ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณจะจัดสรรจากระบบบนไปสู่ระดับล่าง แต่นับจากปี 2567 ท้องถิ่นกว่า 7,500 หน่วยทั่วประเทศ จะเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อของบประมาณจากสำนักงบประมาณได้โดยตรง ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องเพิ่มอำนาจในการหารายได้เข้าท้องถิ่นโดยตรงมากขึ้น อาทิ เก็บภาษีธุรกิจบางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานที่ตั้งในต่างจังหวัดที่บริษัทแม่อยู่กรุงเทพฯจึงเสียภาษีให้กับส่วนกลาง ก็ให้เสียภาษีท้องถิ่นแทน เพื่อไปพัฒนาท้องถิ่นที่สาขาธุรกิจหรือโรงงานนั้นตั้งอยู่

“พรรคการเมือง” เริ่มเห็นความสำคัญของ “ท้องถิ่น” จึงเป็นโอกาสดีที่จะฉวยจังหวะนี้ “กระจายอำนาจ” ให้ “ท้องถิ่น” อย่างจริงจัง เพราะนี่คือเครื่องจักรสำคัญในการจะสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำ

…………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย… “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img