วันจันทร์, เมษายน 21, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย”..มาถึงจุดนี้ได้ยังไง??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย”..มาถึงจุดนี้ได้ยังไง??

ขณะที่รัฐบาลกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินปลื้มอกปลื้มใจกับ นโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปแล้ว 2 เฟส ซึ่ง เฟส 2 เพิ่งแจกก่อนการเลือกตั้ง อบจ.ไม่กี่วัน รวมเม็ดเงินที่แจกไป 1.4 แสนล้านบาท ยังเป็นที่กังขาว่า ได้ผลแค่ไหน

ขณะที่ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร ระบุว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2024 รัฐบาลดำเนินมาตรการ Digital Wallet โดยแจกจำนวนเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง คิดเป็นเงิน 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของจีดีพี. แต่พบว่า การบริโภคในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาส 3

จากกการสำรวจ พบว่า มีคนถึง 12.8% นำเงินที่ได้รับแจกเอาไปใช้หนี้ บางส่วนก็เก็บเป็นเงินออม แทนไปจับจ่ายใช้สอย การใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็จะซื้อสินค้าจำเป็นที่เดิมใช้อยู่แล้ว ไปกระจุกตัวอยู่กับอาหาร เครื่องดื่ม การชำระค่าสาธารณูปโภค

นั่นแปลว่า เงินที่แจกไปไม่ได้มีผลต่อการบริโภคหรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าแจกเฟส 3 ต่อไป อย่างช้าไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ โดยจะมีการปรับเงื่อนไขใหม่ ขณะที่รัฐบาลกำลังหมกมุ่นอยู่กับนโยบายแจกเงิน หากกางบัญชีประเทศไทยตอนนี้ มีแต่รายจ่าย ส่วนรายได้อย่าง “การท่องเที่ยว” ที่เป็นรายได้หลักทดแทน “ส่งออก” ก็เริ่มอ่อนแรง จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศไทย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสายตานักท่องเที่ยวจีน หลังเกิดเหตุการณ์ที่นายหวัง ซิง หรือ “ซิงซิง” นักแสดงชาวจีนวัย 31 ปี ถูกหลอกให้ไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา

การส่งออกที่อ่อนแรงสามวันดี-สี่วันไข้ ก็ยังลุ้นว่ายุคทรัมป์ 2.0 ไทยจะโดนหางเลขจากมาตรการกีดกันทางการค้ามากน้อยแค่ไหน??

ส่วนภาคการผลิตก็มีแต่ข่าวโรงงานทยอยปิดรายวัน ในปี 2567 สถานการณ์การปิดโรงงาน ยังคงมากกว่า 100 โรงต่อเดือน เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงงานที่ปิดตัวลงจะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ประเภท SMEs มากขึ้น คาดว่าในปี 2568 โรงงานจะปิดมากขึ้นโดยเฉพาะ SMEs

เท่าที่คุยกับ นักธุรกิจหลายๆ คน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจแผ่วทุกตัว ไม่มีแรงส่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติก็หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน “ตลาดหลักทรัพย์” ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนก็ไร้เสน่ห์ ซบเซามาหลายปี มีแต่ข่าวทุจริต ปั่นราคา ผลประกอบการบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นก็ไม่ดี ในช่วง 2-3 ปีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ขาดความเชื่อมั่นทยอยขายทิ้งอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ก็คุยกับ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ ย่านพระราม 9 บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดีเลย ร้านอาหารทยอยปิดตัว แม้แต่ย่านดังๆ หรือในห้างฯ ปิดตัวกันระนาว ที่ยังอยู่ได้จะเป็นร้านเก่าแก่ คนรู้จักมานาน มีฐานลูกค้าเดิม ส่วนร้านเปิดใหม่ไม่มีฐานลูกค้าพากันทยอยปิด

ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักเมื่อได้ฟัง “ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด กล่าวในงานสัมนา GO THAILAND 2025 หัวข้อเรื่อง “Tech for inclusive growth : AI แก้ความเหลื่อมล้ำ” ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำยังสูงมาก หากมองว่าคนรวย 10% ของประเทศเรา มีรายได้โดยรวมเกินครึ่งของจีดีพีทั้งปีของประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันค่อนข้างมากเท่านี้ แสดงให้เห็นว่ามันมีความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย

สำหรับความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ มองว่ามีอยู่ 3 ตัวอย่าง ได้แก่

1.ประสิทธิภาพการผลิตของเราตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด โดยศักยภาพการผลิต ณ วันนี้ต่ำกว่า 7 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า “เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ” ส่วนใหญ่ลงทุนด้านแรงงานมากกว่าด้านเทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจใหญ่มีต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขยายศักยภาพของธุรกิจ ฉะนั้น ความมั่งคั่งจึงยิ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนายทุนเพียงหยิบมือเดียว ทำให้ความเจริญไม่กระจายไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้

2.ศักยภาพทักษะของแรงงาน ไม่ตอบโจทย์การจ้างงานอีกต่อไป โดยตัวเลขที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อเราจบปริญญาตรี และเทียบคนที่จบมัธยมปลายนั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่จบมัธยมปลาย 3 เท่า ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขลดลง อยู่ต่ำกว่า 2% สวนทางกับประชาคมโลกอย่างมีนัยสำคัญ

และ 3.การเข้าถึงโอกาสทางด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า 45% ของเศรษฐกิจไทยอยู่นอกระบบคือ ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถมองเห็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจ ฉะนั้น กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินสด แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และหันไปพึ่งหาหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ พบว่า 42% ของครัวเรือนไทยยังต้องกู้หนี้นอกระบบอยู่ ซึ่งขนาดหนี้นอกระบบของเมืองไทยมีอยู่ตั้งแต่ 80,000 ล้านบาท จนถึง 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้นโอกาสในการเข้าถึงหนี้ในระบบได้ จะเป็นตัวช่วยปลดล็อกปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย

ฟังแล้วนึกในใจว่า เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่เคยประกาศว่าเชี่ยวชาญเศรษฐกิจ เปลี่ยน “นายกรัฐมนตรี” มาแล้วสองคน แต่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันซักอย่าง !!!

……………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย… “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img