สืบเนื่องจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ซึ่งเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2567 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดย “เดนมาร์ก” ยังคงครองแชมป์โปร่งใส 7 ปีซ้อนได้ 90 คะแนน
ส่วน ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก ได้ 34 คะแนน ปีนี้คะแนนลดลงจากเดิม ที่น่าสนใจประเทศที่ได้คะแนน 34 คะแนนเท่ากับไทย ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย, ประเทศบราซิล, ประเทศมาลาวี, ประเทศเนปาล, ประเทศไนเจอร์ และประเทศตุรเคีย เห็นรายชื่อแล้วพูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆ ว่าเราอยู่จุดนี้ได้ยังไง

หากโฟกัสเฉพาะกลุ่มประเทศในอาเซียน ปรากฏว่า ไทยอยู่อันดับ 5 ส่วนประเทศที่มีอันดับสูงกว่าไทย ได้แก่ สิงคโปร์ อันนี้รู้กันอยู่แล้ว โดยได้อันดับ 1 อาเซียน และอันดับ 3 ของโลก มีค่า CPI ได้ 84 คะแนน ยิ่งกว่านั้นปีนี้สิงคโปร์แซงนิวซีแลนด์ขึ้นเป็นประเทศโปร่งใสที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกอีกด้วย มาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 57 ของโลกได้คะแนน 50 คะแนน ตามมาด้วย เวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 88 ได้คะแนน 40 คะแนน และ อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับที่ 99 ได้คะแนน 37 คะแนน
ทั้งนี้ดัชนีรับรู้การทุจริตในปี 2567 ไทยถือว่าได้คะแนนต่ำสุดรอบหลายปี และในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คะแนน CPI ของไทยอยู่ระหว่าง 34-36 คะแนนเป็นส่วนใหญ่ แสดงว่ารัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่เคยจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชัน มิหนำซ้ำยังหลิ่วตาให้พวกพ้องแสวงหาประโยขน์อีกด้วย
นอกจากสิงคโปร์และมาเลเซียแล้วที่อันดับสูงกว่าไทยมาโดยตลอด เนื่องจากการคอร์รัปชันค่อนข้างน้อยแล้ว แต่ระยะหลังๆ อินโดนีเซียและเวียดนามรัฐบาลจริงจังกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น ทำให้ดัชนี CPI อันดับดีกว่าไทย

ผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทยที่ลดลง ต้องบอกว่า อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงจริงๆ เนื่องจากดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยง หรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ
ยิ่งในปัจจุบันรัฐบาลในประเทศพัฒนาไม่ส่งเสริมไม่สนับสนุนการคอร์รัปชัน โดยมีนโยบายห้ามบริษัทเอกชนของเขาไปลงทุนในประเทศที่มีการคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด ประกอบกับทุกวันนี้ นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น จึงไม่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ เพราะจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เป็นต้นทุนแฝง ไม่สามารถแข่งขันได้
จึงไม่แปลกใจที่หลายประเทศพยายามดึงดูดนักลงทุนด้วยการปราบการคอร์รัปชัน ที่เป็นอุปสรรคการลงทุน การทำธุรกิจและรื้อกฏหมายที่ล้าสมัยและซ้ำซ้อนให้เหลือน้อยลง
แต่บ้านเรา การทุตริตคอร์รัปชันไม่ได้จำกัดวงแค่ “นักการเมือง-ข้าราชการ-องค์กรท้องถิ่น” เท่านั้น แต่ตอนนี้การทุจริตลามมาถึงภาคธุรกิจเอกชนที่เจ้าของโกงบริษัทตัวเอง โกงผู้ถือหุ้น อย่างที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงสอง-สามปีที่ผ่านมา ความเสียหายจากการโกงบริษัทในตลาดหุ้นรวมกันหลายหมื่นล้าน
มิอาจปฏิเสธได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทุจริต นั่นคือ ต้นทุนของประเทศที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับที่ “ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา Thailand Rule of Law Fair ว่า กรณีการกระทำผิดในตลาดทุนไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2567 จะเห็นว่ามีการกระทำความผิด 105 กรณี คิดเป็นค่าปรับรวม 35,000 ล้านบาท

โดยความผิดที่มีค่าปรับมากที่สุดคือ การตกแต่งบัญชี 9 กรณี ค่าปรับรวม 30,000 ล้านบาท, การฉ้อโกง 28 กรณี ค่าปรับรวม 2,000 ล้านบาท, การปั่นหุ้น 46 กรณี ค่าปรับรวม 2,000 ล้านบาท และ ใช้ข้อมูลภายในซื้อขาย 22 กรณี ค่าปรับรวม 250 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลตรวจของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า รอบ 6 ปีที่ผ่านมา รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจากโครงการที่ไม่ได้ใช้ปีหนึ่ง 4-5 พันล้านบาท ที่เป็นความเสียหาย บางปี 2 หมื่นล้านบาท บางปี 4 หมื่นล้านบาทก็มี รวม 6 ปี ก็ไปรวมตัวเลขความเสียหายมาได้ประมาณแสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง แต่อีกส่วนที่เป็นตัวเลขค่อนข้างสูง เรื่องของสิ่งที่จัดซื้อจัดหามาแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งสองปรากฏการณ์นี้ ไม่พ้นเรื่องทุจริต
ขณะที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด “อบจ.” ก็พบว่า อบจ.ทั่วประเทศใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 63% ของงบลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เพราะมีการคอร์รัปชันได้ง่ายโดยวิธีการเขียนชื่อโครงการแบบเลี่ยงบาลี รวมทั้งการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ที่ทำให้การตรวจสอบยิ่งยากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นการคอร์รัปชันเป็นต้นทุนของประเทศอย่างมิอาจปฎิเสธได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยมีกฎหมายที่ล้าหลังและซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก จึงเปิดช่องให้ข้าราชการ นักการเมืองที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจ ทำให้มีช่องโหว่ในการคอร์รัปชันได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ TDRI พบว่า หากไทยปรับลดกฎหมายที่ไม่จำเป็น จะทำให้ไทยลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP เลยทีเดียว
………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
