จะว่าไปแล้ว “เครื่องยนต์ส่งออก” ของไทย ดับสนิทตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียอีก เรียกว่า นิ่งสนิทมานาน บางเดือนตัวเลขยอดการส่งออกติดลบ ก็มีปรากฏการณ์นี้มีมาตั้งแต่วิกฤติ “สงครามการค้า” ระหว่างอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อย่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ไทยที่เป็นคู่ค้าของทั้งสองประเทศ พลอยโดนหางเลขไปด้วย
กระทั่งมีข่าวดีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเมษายน โตขึ้นแบบพรวดพราดอย่างไม่น่าเชื่อ อันที่จริงตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา ยอดส่งออกไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหยุดชะงัก กลับมาดำเนินต่อได้อีกครั้ง หลังจากประเทศเหล่านี้ได้กระจายวัคซีนอย่างครอบคลุม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อย ๆ ลดลงเรื่อยๆ
ที่สำคัญมูลค่าตลาด ทั้งสหรัฐฯ จีน รวมถึงสหภาพยุโรป คิดเป็นกว่า 50% ของตลาดส่งออกทั่วโลก และประมาณ 30% ของตลาดส่งออกของประเทศไทย ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดเดือนเมษายน ขยายตัวสูงถึง 13.09% คิดเป็นมูลค่า 21,400 กว่าล้านดอลลาร์ หรือราว 675,000 กว่าล้านบาท สูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือในรอบ 3 ปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้น 8.47% ทำให้ยอดการส่งออก 4 เดือนแรก ปี 2564 มีมูลค่ากว่า 85,577 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%
เจาะลึกแต่ละตลาดจะพบว่า ยอดการส่งออกขยายตัวทุกตลาด ตลาดหลัก สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.8% ตลาดจีน เพิ่มขึ้น 21.9% CLMV รอบบ้านเราเพิ่มขึ้น 44.3% “พระเอก” ยังเป็น กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด หลายๆ คนต้องทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่การส่งออกที่กำลังดีวันดีคืน เป็นข่าวดีของเศรษฐกิจไทย แต่ในห้วงเดือนที่ผ่านมาก็มี “ข่าวร้าย” ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ที่จะมีผลถึงการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศนั่นคือข่าว “ขบวนการค้ายาเสพติด” จากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในเอเซีย เช่น กรณีที่มีการจับกุมขบวนการค้าเสพติดและของกลางประเภทเฮโรอีนและยาไอซ์ได้ล็อตใหญ่ที่เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และออสเตรเลีย ล่าสุดก็จับกุมยาไอซ์ล็อตใหญ่เตรียมส่งไปยังเพื่อนบ้าน มาเลย์และสิงคโปร์
เป็นเรื่องที่แปลกมาก ในช่วงไม่กี่วันมีข่าวการจับกุมขบวนการยาเสพติดในต่างประเทศติดๆ กัน แบบถี่ยิบและพบว่ามีต้นทางมาจากประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งกรณีที่มีการจับกุม ล้วนทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ ถูกมองในแง่ลบอย่างมิอาจปฏิเสธได้
ล่าสุด “ซูเปอร์โพล” ได้สำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ร้อยละ 92.0 ระบุภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายจากปัญหายาเสพติดหลุดรอดเข้าออกประเทศ และร้อยละ 88.0 ต้องการให้ล่าถึงตัวใหญ่โยงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่ที่ใช้ไทยเป็นจุดพัก ฟอกเงิน และขบวนการอาชญากรรมอื่น ๆ ในประเทศ ส่วนร้อยละ 86.1 ต้องการให้จัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเชื่อมโยงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ
ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่า เริ่มมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่เสียหายจากการตรวจพบยาเสพติดส่งจากไทยไปยังปลายทางประเทศอื่นที่ถูกตรวจพบ และการใช้ประเทศไทยเป็นจุดพักยา ฟอกเงิน และส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายต่าง ๆ ทั่วโลก ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเนื่องมาจากการทุจริต คอร์รัปชั่น การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานในการสกัดกั้นและปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้า-ออกประเทศนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สถาบันการเงินของรัฐก็ได้ประกาศออกมาว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด เพื่อขยายผลสู่การจับกุมผู้ค้ายาเสพติดอย่างเต็มที่ ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ในการป้องกันการฟอกเงินคดียาเสพติด รวมถึงการหาทางตรวจสอบเชิงรุกกับบัญชีที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด เพื่อตรวจสอบการใช้บัญชีเงินฝากเป็นช่องทางในการฟอกเงินของนักค้ายา
ทุกวันนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อใช้เป็น “ข้ออ้างการกีดกันทางการค้า” มากมายและก่อนหน้านี้ก็ประกาศไม่สนับสนุนให้นักลงทุนของเขาเข้ามาลงทุนในประเทศที่มี “ปัญหาการคอรัปชั่น” มาแล้วส่งผลให้หลายๆ ประเทศเร่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้าไปลงทุน จะเห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่พยายามลดขั้นตอนทางกฏหมายและลดปัญหาการเรียกเงินใต้โต๊ะ เพื่อจูงใจนักลงทุนเข้าไปลงทุน
เรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดไม่เอาจริงเอาจังกับเรืองนี้ ยังปล่อยปละละเลยปล่อยให้มีการใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดไปยังต่างประเทศอาจจะถูก “คว่ำบาตร” จากอารยประเทศ ไม่ยอมคบค้าสมาคม ไม่เข้ามาลงทุน และไม่ทำมาค้าขายด้วยเหมือนการ “คว่ำบาตร” จากกรณีการทุจริตคอรัปชั่น
อย่าลืมว่า หากประเทศคู่ค้าใช้มาตรการกีดกันการค้าด้วยการคว่ำบาตร ไม่ยอมนำเข้าสินค้าจากไทย ด้วยข้ออ้างเรื่องภาพลักษณ์ประเทศจากปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ย่อมส่งผลกระทบกับการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการหารายได้เข้าประเทศสัดส่วนมากถึง 70% ของจีดีพี. อย่างมิอาจปฏิเสธได้
………………………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”