วันเสาร์, เมษายน 12, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS‘แผ่นดินไหว’น้ำลด-ตอผุด ท้าทาย‘อิ๊งค์’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘แผ่นดินไหว’น้ำลด-ตอผุด ท้าทาย‘อิ๊งค์’

แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ใช่วิกฤติจากภัยธรรมชาติครั้งแรกของไทย ในห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เคยเกิดวิกฤติจากภัยธรรมชาติขนาดใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกย้อนกลับไปใน ปี 2547 ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยต้องเจอโศกนาฏกรรมจาก คลื่นยักษ์สึนามิ มีผู้เสียชีวิต ทั้งหมดกว่า 5 พันคน สูญหายอีกกว่า 3 พันคน

ครั้งนั้นเป็นวิกฤติใหญ่ครั้งแรก ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการวิกฤติ ดูการทำงานก็ค่อนข้างมั่ว ไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การตรวจสอบอัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต ที่มีปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่เสียชีวิตในเหตุการณ

ต่อมาใน ปี 2554 เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ในยุครัฐบาลเพื่อไทย ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ ภาคกลาง และกทม. น้ำท่วมหนักสุดในรอบหลายสิบปี ประชาชนรับผลกระทบกว่า 12 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 800 คน 

สาเหตุหลักมาจาก การบริหารจัดการน้ำผิดพลาดของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การตัดสินใจและการจัดการของรัฐบาลผิดพลาด แม้ภายหลังมีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมา เพื่อให้การทำงานแบบบูรณาการ แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วม สร้างเกิดความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ล่าสุดใน ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย สร้างความเสียหายอย่างหนัก 

ไม่รู้เป็นอะไร ปี 2568 วิกฤติจากภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ มาเกิดใน ยุคพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 30 ชั้น ต้องพังครืนเป็นกองเศษซากปรักหักพัง ถือเป็นอุบัติภัยครั้งแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ธุรกิจคอนโดฯที่ซบเซา พลอยโดนหางเลขไปด้วย

จาก เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม ทำให้นึกถึง เหตุการณ์ตึกโรยัลพลาซ่า โคราชถล่ม เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ต้นเหตุมาจาก การทุจริต ของเจ้าหน้าที่เทศบาล ที่อนุมัติแบบก่อสร้างตึกไม่ตรงสเปก ขาดมาตรฐาน

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ตึก สตง.ถล่ม มีต้นเหตุเหมือนกัน เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า ตึกนี้เป็นตึกสร้างใหม่ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างของไทย ร่วมกับ บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน การพังทลายง่ายๆ ขณะที่ตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้รับความเสียหาย จึงตัดประเด็นดังกล่าวทิ้งไม่ได้

หลังจากนี้คงมีการตั้งกรรมการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง อย่าลืมว่า “สตง.” เป็นสัญลักษณ์ขององค์กรที่ต้องมี “ความโปร่งใส” มิเช่นนั้นจะไม่มีใครเชื่อมั่น

เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาคล้ายๆ กับวิกฤติ 2 ครั้งแรก นั่นคือ ความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวิกฤติ ทั้งในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่อง “การสื่อสารยามวิกฤติ” มีปัญหาการประสานงานกัน ระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการแจ้งเตือนระบบ SMS ที่มีขั้นตอนการปฏิบัติยุ่งยากซับซ้อน

ยิ่งในส่วนของ “กสทช.” ที่เป็นองค์กรอิสระ การดำเนินงานต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจาก “ประธาน กสทช.” ทั้งที่อยู่ในช่วง หน้าสิ่วหน้าขวาน กับข้ออ้างที่บอกว่า ระบบข้อจำกัดการกระจายข้อมูลครั้งละไม่เกิน 2 แสนรายชื่อ การไม่ใส่ใจต่อปัญหา ของ “ผู้มีอำนาจในกสทช.” เพราะทุกคนมาด้วย “ระบบอุปถัมภ์” จึง “ไม่รู้ร้อนรู้หนาว” เมื่อเกิดปรากฏการณ์ ต่างฝ่ายต่างโยนกันไปโยนกันมา ระหว่าง “กสทช.” กับ “ปภ.” 

ความจริง “ระบบเตือนภัยพิบัติ” ได้พูดถึงมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้ง “สึนามิถล่มภูเก็ต” เมื่อคราว “น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ” ก็พูดกันเรื่องนี้ จนกระทั่ง “น้ำท่วมใหญ่เชียงราย” ปีที่แล้ว มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ มีการอนุมัติงบประมาณกว่าพันล้าน เพื่อพัฒนาระบบ “Cell Broadcast” แจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ

จนกระทั่งล่าสุดวันศุกร์ที่แล้ว แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และภาคเหนือของไทย ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติประชาชน ก็ยังไม่เสร็จแค่ระบบ “Cell Broadcast” อย่างเดียว ทำไมใช้เวลากว่า 20 ปี ทั้งที่มี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในความดูแลตลอด เห็นที “นายกฯแพทองธาร” ต้องเร่งสังคายนาครั้งใหญ่

นอกจากจะต้องเร่งสะสางระบบเตือนภัยแล้ว เรื่องเร่งด่วนจะต้องตรวจสอบอาคาร สตง.ถล่ม ว่าดำเนินการด้วยความโปร่งใสหรือไม่ และที่สำคัญควรจะ ต้อง “เช็คบิล” ข้าราชการและองค์กรอิสระที่บกพร่องต่อหน้าที่ ประเภทที่นั่งกิน-นอนกินเงินเดือนเป็นแสน ถลุงงบฯเดินทางดูงานต่างประเทศเป็นว่าเล่น ควรจะโละทิ้งได้แล้ว

ครั้งนี้จะดูว่า “นายกฯแพทองธาร” จะทำอย่างไร กล้าลงโทษผู้รับผิดชอบหรือไม่ จะเป็นการพิสูจน์ว่า มี “ภาวะผู้นำ” หรือไม่ ไม่ใช่แค่แสดงละคร ทำพูดขึงขังต่อหน้าสาธารณชนเท่านั้น

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img