กลางดึกคืนวันที่ 2 เม.ย. ราวๆ ตีสามตามเวลาเมืองไทย คนไทยทั้งประเทศต้อง “ช็อกอีกรอบ” หลังจาก “ช็อกจากแผ่นดินไหว” ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีใหม่ ที่เรียกว่า “ภาษีตอบโต้” หรืออาจจะเรียกว่า “ภาษีเอาคืน” หรือ “ภาษีสวนหมัด” ก็ได้
มาตรการนี้มีหลายระดับ เบื้องต้นอัตราภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด และเพิ่มอัตราภาษีสูงขึ้นสำหรับบางประเทศ โดยคิดจากปัจจัยที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับประเทศที่ป็นคู่ค้า และจากกรณีที่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า หรือกรณีที่ประเทศคู่ค้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อน ทำให้สหรัฐฯเสียประโยชน์
รวมถึงพิจารณาจาก ความใกล้ชิดของประเทศคู่ค้า กับ ประเทศจีน ซึ่งเป็น “คู่แค้นทางการค้ากับสหรัฐฯ” จะเห็นได้จาก กรณีกลุ่มประเทศ CLMV ที่มี “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม-ไทย” ที่สหรัฐฯมองว่า “ใกล้ชิดจีน” ทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง อีกทั้งจีนใช้ประโยชน์ โดยเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศเหล่านี้ ผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่สหรัฐฯใช้กีดกันการค้าจีน
จึงไม่น่าแปลกใจที่ ประเทศ CLMV โดนจนหลังแอ่นกันถ้วนหน้า “กัมพูชา 49%-ลาว 48%-เมียนมา 44%-เวียดนาม 49%” ขณะที่ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อินโดนีเซีย 32% บรูไนกับมาเลเซีย เท่ากัน 24% ส่วนฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ที่มีความผูกพันกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด อัตรา 17% และ 10 % ตามลำดับ หรือกรณี เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศอียู ก็โดนไม่หนักเท่าไทยและ CLMV

แต่ที่คนไทยช็อกหนักมาก ตอนแรกคิดว่ามาตรการภาษีที่โดนไม่น่าจะเกิน 10% ซึ่งก็ถือว่าหนักแล้ว ที่ผ่านมา “สินค้าส่งออกไทย” ขนาดไม่โดนมาตรการอะไร ก็มีแต่ “ทรงกับทรุด” เพราะสินค้าหลายประเภทตกยุค แข่งกับใครไม่ได้ แต่พอโดน ภาษี 72% แต่ “ทรัมป์” บอกลดครึ่งหนึ่ง เหลือ 36% ถือว่าสาหัสเลยทีเดียว ขณะที่จีนโดน 34% แต่เมื่อรวมกับภาษีฐานเดิม กลายเป็นว่าต้องโดน 54%
สำหรับ ประเทศไทยที่โดนถึง 36% ถือว่าสหรัฐฯเอาคืน เพราะก่อนหน้านี้ ไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯสูง จนไม่สามารถแข่งขันในไทยได้ เช่น การเก็บภาษีเนื้อหมู อ้างว่ามีสารเร่งเนื้อแดง
นอกจากนี้ ไทยยังเก็บภาษีไวน์ที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราสูงถึง 400% และ ภาษีนำเข้ารถยนต์ ที่สูงจนบริษัทรถยนต์สหรัฐฯต้องย้ายฐานมาผลิตในประเทศไทย รวมถึงการที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯค่อนข้างมากแต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือกรณี สหรัฐฯมองว่า “ไทยใกล้ชิดกับจีน” และอาจรวมถึง “ความไม่พอใจกรณีอุยกูร์”
เมื่อมาตรการนี้ออกมา ทำให้ ส่งออกไทยต้องเจอ 2 เด้ง!!!
เด้งแรก คือเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ เมื่อเจอมาตรการภาษีนี้ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกจะยิ่งอ่อนแอลงอีก ขณะที่การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออก จะยิ่งดุเดือดมากขึ้น
เด้งที่สอง เมื่อภาษีที่สูงขึ้น ต้นทุนสินค้าไทยที่จะเข้าไปในสหรัฐฯก็จะเพิ่มสูงขึ้นตาม อย่างน้อยๆ 36% สินค้าที่เคยนำเข้าไปขายราคา 100 บาท เมื่อภาษีประกาศใช้ ราคาต้องขยับเป็น 136 บาท แพงขึ้นจากเดิม 30% สินค้าหลายประเภท จะต้องสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งที่โดนเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
อย่าลืมว่า สหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าส่งออกของไทย อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงปี 2015-2020 นั้น อยู่ที่ประมาณ 7.4% ต่อปี จึงเห็นได้ว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 34,380 ล้านเหรียญในปี 2020 มาเป็น 54,960 ล้านเหรียญ ในปี 2024 (เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านเหรียญต่อปี) สินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯหลักๆ มี คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยางรถยนต์, อาหารทะเลแช่แข็ง, ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น
ดังนั้นการที่สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีสูงถึง 36% “ส่งออกไทย” ต้องสูญเสียตลาดสำคัญอย่างน่าเสียดาย
ยิ่งถ้าจีนโดนกีดกันหนัก ไทยก็จะพลอยโดนหางเลขไปด้วย เพราะสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯนั้น บางส่วนนำเข้าวัตถุดิบจากไทย เช่น ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติกจีน ส่งผลให้จีนนำเข้าจากไทยน้อยลง

แม้แต่ “สินค้าเกษตร” อย่าง “ข้าว” ก็พลอยได้รับผลกระทบ “ชูเกียรติ โอกาสวงศ์” นายกกิติมศักดิ์ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่ไทยถูกเรียกเก็บภาษี 36% ถือว่าสูง มากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯขยับขึ้นเป็นตันละ 1,400 เหรียญทันที ขณะที่ข้าวเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 600-700 เหรียญเท่านั้น ผู้บริโภคน่าจะหันไปซื้อข้าวเวียดนามแทน
ตอนนี้หลายประเทศต่างมีท่าทีต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน จีน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 34%, เยอรมัน ประกาศถอนทองคำแท่งจากธนาคารกลางสหรัฐฯเป็นการตอบโต้, เกาหลีใต้ จัดแพ็กเกจเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรยานยนต์
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โทรสายตรงคุย ทรัมป์ ยอมลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯเหลือ 0 และขอยืดเวลาออกไป 3 เดือน จะได้มีเวลาเจรจา
สิงคโปร์ “ลอเรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงประชาชน เตรียมรับมือ ส่วน “อันวาร์ อิบราฮิม” นายกฯมาเลเซีย โทรคุยกับผู้นำสิงคโปร์ อินโดฯ ฟิลิปปินส์ บรูไน ระดมสมองเพื่อหาทางออก
เที่ยวนี้โดนกันหลายประเทศ คิวในการเจรจาคงยาวเหยียด ถ้ารัฐบาลมัวชักช้า กว่าจะได้เจรจา “ส่งออกไทย” คงทรุดหนัก ยิ่งเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย พลอยฉุด “จีดีพี.” ร่วงตามไปด้วย
…………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…..”ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
