ตอนแรกคิดว่า คนไทยจะได้รับข่าวดีหลังสงกรานต์ เมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี บอกว่า “ทีมไทยแลนด์” มีคิวจะเจรจากับสหรัฐฯในวันที่ 23 เมษายนนี้ ไม่กี่วันต่อมา ก็ออกมาแถลงว่า “ต้องเลื่อนออกไปเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเอกสารการเจรจา เพื่อความรอบคอบ”
แต่เบื้องหลังจริงๆ “คนวงใน” บอกว่า ทางสหรัฐฯไม่ได้ตอบรับ จึงต้องยกเลิกเกือบนาทีสุดท้าย ทำให้ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.คลัง ต้องเปลี่ยนโปรแกรม สั่งเบรก “ทีมไทยแลนด์” ที่เตรียมเหินฟ้าไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หันหัวเรือเลี้ยวกลับกะทันหัน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมา “โม้” ว่า ได้ต่อสายคุยกับคนใกล้ชิด “ทรัมป์” ตลอด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทีมไทยแลนด์” ตอกย้ำ “ไพ่ต่อรอง” ในมือของไทยนั้น “แต้มเป็นรอง” เครดิตยังไม่ถึงขั้นแถวหน้าที่สหรัฐฯจะเปิดประตูทำเนียบขาวให้เข้าพบ
ตรงข้ามกับ “เพื่อนบ้าน” ทั้ง “เวียดนาม-อินโดฯ-มาเลย์” ต่างมีคิวได้พบปะเจรจาและมีข้อเสนอกับผู้แทนสหรัฐฯรอบแรกกันไปแล้ว เริ่มจากเมื่อวันที่ 10 เมษายน รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม Ho Duc Phoc ได้เข้าพบ รมต.คลัง Scott Bessent และหลังจากได้ร่วมประชุมกับ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ Jamieson Greer เพื่อเจรจาการค้า
ส่วน รมต.การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้ดินทางไปเจรจาแล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน ส่วน อินโดนีเซีย ได้ประชุมร่วมกับ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ Jamieson Greer และ รัฐมนตรีพาณิชย์ Howard Lutnick เมื่อวันที่ 17 เมษายน โดย 1 วันก่อนหน้า Sugiono รมต.ต่างประเทศอินโดฯ ได้พบกับ Rubio รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ
อันที่จริงถ้าเราได้คิวก่อน อย่างน้อยก็แสดงให้สหรัฐฯเห็นถึงความจริงใจและตั้งใจแก้ปัญหา จะได้เห็น “ไพ่” ของคู่เจรจาว่า มีอะไรอยู่ในมือ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรอง เหมือนกรณีญี่ปุ่น ที่สหรัฐฯต้องการให้ญี่ปุ่นนำเข้ารถยนต์ที่และข้าวที่ผลิตในสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นรู้ว่าสหรัฐฯต้องการอะไร แล้วเขาจะเลือกจะสื่อสารกับคนในประเทศอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นใจ
หลังจากเจรจารอบแรกแล้ว “ญี่ปุ่น” แยกกลยุทธ์ออกเป็น 3 กลุ่ม “กลุ่มการค้า” จะเจรจากันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ส่วนเรื่อง “ค่าเงิน” เป็นเรื่องระหว่างกระทรวงการคลังสองประเทศ และ “กลุ่มความมั่นคง” ก็จะแยกกันเจรจาต่างหากกับฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ
ขณะที่ไทยจนถึงวันนี้ ก็ไม่มีความชัดเจน จะเอาอะไรไปต่อรอง แรกๆ บอกว่า จะให้นำเข้าสินค้าเกษตร ถั่วเหลือง ข้าวโพดเพื่อนำแปรรูปส่งออกต่อ แต่ก็ถูกต่อต้านจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและซื้อเครื่องบินรบ ก็เริ่มมีคนไม่เห็นด้วย รวมถึงปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ
ต้องเข้าใจว่า การเจรจากับ “ทรัมป์” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ประเด็นที่ไทยโดนเล่นงาน ไม่ใช่แค่เรื่องที่สหรัฐฯมองว่า ไม่เป็นธรรมจากกรณีที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯในอัตราที่สูง หรือการที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯเท่านั้น

“ไฮไลต์” คือกรณี “โรงงานศูนย์เหรียญ” เป็นโรงงานคนจีนเข้ามาตั้งในไทย ผลิตสินค้าแล้วสวมสิทธิ์ไทยส่งไปยังสหรัฐฯ รวมถึง “ส่งออกศูนย์เหรียญ” ที่มีทั้งสินค้าที่ผลิตจากโรงงานจีนในไทย และสินค้าที่ผลิตจากจีน แต่ใช้ไทยเป็นทางผ่านมาสวมสิทธิ์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ความไม่พอใจของสหรัฐฯครั้งนี้ อาจจะรวมถึงกรณีที่ ไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ให้รัฐบาลจีน ที่สหรัฐฯประณามไทยก่อนหน้านี้ แม้ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่อย่ามองข้าม
การขึ้นภาษีของสหรัฐฯครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “เศรษฐกิจ” แต่รวมถึง “ความมั่นคง” ด้วย “ทีมไทยแลนด์” ต้องไม่หลงประเด็น
ฉะนั้นกลยุทธ์ในการเจรจาต้อง “ตีโจทย์ให้แตก” ประเด็นหลักน่าจะเป็นที่ สหรัฐฯมองว่า ไทยตามใจจีน และยอมให้จีนใช้เป็นฐานการตั้งโรงงานศูนย์เหรียญและส่งออกศูนย์เหรียญ
ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องแสดงท่าทีว่า ไทยจะเร่งแก้ปัญหา “ส่งออกศูนย์เหรียญ-โรงงานศูนย์เหรียญ” ของจีนที่ใช้ไทยเป็นฐาน…อย่างจริงใจ
แต่พอเห็นหน้าเห็นตาทีมเจรจาของไทย ที่มี “พิชัย ชุณหวิชิระ” รมว.คลัง และ “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ดูไปแล้ว…รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “เศรษฐกิจ” เท่านั้น อีกทั้ง “ทั้งคู่” ไม่มีประสบการณ์ด้านต่างประเทศ การเจรจาต้องชิงไหวชิงพริบ ภาษาต้องตอบโต้ได้ทันควัน น่าแปลกใจว่า งานระดับชาติ ทำไม…ไม่มี “นายกฯแพทองธาร” ไปในฐานะ “หัวหน้าทีม” รวมถึง “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รมว.ต่างประเทศ ก็น่าจะมีประสบการณ์การเจรจาระหว่างประเทศมากกว่าคนอื่นๆ
งานนี้เป็นงานระดับชาติ รัฐบาลควรจะใจกว้าง “ดึงคนเก่งๆ” มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ เข้ามาร่วมทีมเจรจา ไม่ใช่มีแต่ “คนจากพรรคเพื่อไทย” ที่ยัง “มือไม่ถึง”

งานนี้ระดับนี้ควรมีชื่อ “ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์” ที่มีโปรไฟล์เป็นที่รู้จักและเป็นที่นับถือทั่วโลก เพราะอดีตเคยเป็นเลขาธิการ UNCTAD ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO
อย่าลืมว่า การที่สหรัฐฯจะเปิดโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังกับไทย ต้องมีตัวแทนที่สหรัฐฯให้ความเคารพ และ “ดร.ศุภชัย” ก็มีความรู้ความเข้าใจกลไกภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งจีนและสหรัฐฯอย่างลึกซึ้ง หรือนักวิชาการที่ตามติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่าง “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ถือว่าไม่ด้อยกว่าใคร
ชื่อชั้นทั้ง “ศุภชัย-กอบศักดิ์“ น่าจะเหนือ “ทีมไทยแลนด์” ที่มีแต่ “คนพรรคเพื่อไทย” แม้กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ที่อาสาไปเจรจา ดูรายชื่อที่ปรากฏอยู่ใน “ทีมไทยแลนด์” ตอนนี้ ฟันธงว่า…ม้วนเสื่อกลับบ้านแน่ๆ
…………………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย….“ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
