ในที่สุดความพยายามของกระทรวงการท่องเที่ยวฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่พยายามผลักดัน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโครงการนำร่อง หวังจุดพลุให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคัก โดยจะ “คิ๊กออฟ” ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นการชิมลาง
หากประสบความสำเร็จ เสต็ปต่อมาก็เตรียมจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวอีก 10 จังหวัด หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่โหมดการเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะนับถอยหลังจากนี้อีก 120 วัน ประมาณราวๆ เดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นช่วง “ไฮซีซั่น” ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวพอดี
กระทรวงการท่องเที่ยวฯมั่นใจว่า ในเดือนก.ค.มีนักท่องเที่ยวยืนยันจะเดินทางมายังภูเก็ตแล้ว 2 กลุ่ม คือ ในช่วงต้นเดือน มีมาจากสหรัฐอเมริกา และในช่วงปลายเดือน มีกลุ่มทหารเรือจากอังกฤษ ซึ่งเข้ามาซ้อมรบและมาแวะพักที่ภูเก็ต 400-500 คน ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป และทวีปอเมริกา ทะยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าในรอบแรกนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตกว่า 129,000 คน ประมาณการรายได้ 3 เดือนนี้ เฉพาะที่ภูเก็ตราว 15,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้รับการขานรับจากห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่และจากกลุ่มนายทุนโรงแรมขนาดใหญ่เป็นอย่างดี แต่จากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจท้องถิ่น ส่วนใหญ่ยังเกรงว่าโครงการนี้จะไปไม่รอด ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เพราะธุรกิจรายย่อยที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในภูเก็ต ต่างพากันล้มหายตายจากไป ตั้งแต่ประสบวิกฤติโควิดระลอกแรก คงฟื้นไม่ทันเปิดรับนักท่องเที่ยวได้
ได้สอบถาม เจ้าของโรงแรมขนาดกลางบางราย ยืนยันว่า แม้รัฐบาลจะเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พวกเขาคงไม่เปิดโรงแรมให้บริการอย่างแน่นอน เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจริงตามที่โฆษณาชวนเชื่อ อีกอย่างหากเปิดบริการ แล้วมีคนมาพัก แต่เกิดติดโควิดขึ้นมา โรงแรมและพนักงานก็ต้องรบผิดชอบจะต้องปิดตัวอีก 14 วัน คิดดูแล้วได้ไม่คุ้มเสีย
ขณะที่ อดีตข้าราชการที่เคยทำงานด้านการท่องเที่ยว ก็ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนต้องปิดภูเก็ตเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ปีที่แล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ต่างพากันปิดตัวและเลิกกิจการจำนวนมาก ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ ร้านฟาสต์ฟูด แบรนด์นอกชื่อดังทั้งหลายที่อยู่ในย่านท่องเที่ยว ไม่รู้ว่าจะเปิดได้หรือไม่
บรรดาโรงแรมของคนท้องถิ่นที่ต้องปิดตัวลง ก็ไม่ได้เปิดให้บริการอีกเลย จึงมีสภาพทรุดโทรม “ไม่เคยมีการปรับปรุง” สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ชำรุดเสียหายจำนวนมาก ไม่พร้อมจะเปิดให้บริการ โรงแรมเหล่านี้ยังมีอีกจำนวนมาก ส่วนโรงแรมที่พร้อมเปิดให้บริการจริงๆ ก็เป็นพวกโรงแรมขนาดใหญ่ ที่เชนต่างประเทศหรือโรงแรมและห้างสรรพสินค้าของกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯ
ที่สำคัญธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวหลายอย่าง ก็ยังไม่พร้อม ทั้งรถบัสนำเที่ยว ร้านอาหาร การแสดงต่างๆ ที่เคยเป็นจุดขาย ก็ปิดตัว เลิกกิจการ พนักงานถูกเลิกจ้าง ต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาเดิมกันหมด ที่สำคัญธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก สายป่านสั้น ไม่มีทุนที่จะมาฟื้นธุรกิจ เมื่อธุรกิจเหล่านี้ไม่เกิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ก็เกิดไม่ได้
ตัวอย่างง่ายๆ เดิมในภูเก็ตเคยมีรถบัสนำเที่ยวราวๆ 4,700 คัน รถตู้กว่า 20,000 คัน รถแท็กซี่ป้ายเขียวจำนวนมาก เมื่อโควิดระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยว รถถูกทิ้งไว้เฉยๆ จึงมีสภาพทรุดโทรม ไม่พร้อมให้บริการ มีรถตู้ที่ใช้ได้จริงๆ ราว 200 คัน ถ้าจะให้รถเหล่านี้มาให้บริการ จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 250,000 บาทต่อคัน มาซ่อมแซม เจ้าของรถไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหน
เมื่อก่อนภูเก็ตมีมวยไทย, คาบาเร่ และภูเก็ตแฟนตาซี เป็นจุดขายสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แต่เดิมมีค่ายมวยนับพันค่าย มากที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้ปิดตัวหมด นักมวยก็เลิกชก สนามมวยเดิมมี 7 แห่งปิดตัวหมด เหลือแค่ 2 แห่ง
เมื่อก่อนมีคาบาเร่โชว์ “คณะไซม่อนคาบาเร่” โด่งดังระดับโลก เมื่อไม่มีงาน พนักงานก็ลาออกหมด ส่วนใหญ่ก็เลิกอาชีพนี้ไปแล้ว ส่วน “ภูเก็ตแฟนตาซี” พนักงานก็โดนเลิกจ้างจำนวนมาก เครื่องไม้เครื่องมือไม่รู้ว่ายังใช้ได้หรือไม่ สัตว์ที่เคยแสดง ก็อาจจะต้องฝึกกันใหม่
เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ก็ไม่มีจุดขาย
แต่สิ่งที่คนในท้องถิ่นเป็นห่วงคือ กลัวว่าสถานการณ์โควิดจะกลับมาระบาดอีกครั้ง จากข่าวที่แพร่สะพัดกรณี กรุ๊ปของกองทัพเรืออังกฤษ ที่เดินทางมาพักผ่อนหลังจากฝึกเสร็จ “ข่าววงใน” บอกว่า ทหารเรือกลุ่มนี้มาจากอินเดีย หากขึ้นฝั่งไปเที่ยว เกรงว่าจะไปตะลุยผับบาร์ต่างๆ ก็อาจจะเป็นตัวแพร่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ ขณะเดียวกัน คนในพื้นที่เองก็ไม่มั่นใจว่า มีการตรวจโควิดและฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดและแรงงานต่างชาติที่หากินในภูเก็ต
เท่าที่ประเมินจากการพูดคุยกับนักธุรกิจท้องถิ่นแล้ว ยังไม่มั่นใจว้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะไปรอด หากโครงการนี้ล้มเหลว ไม่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่จนต้องสั่งปิดภูเก็ต ย่อมจะส่งผลกระทบไปถึงแผนที่จะเปิดจังหวัดในแหล่งท่องเที่ยวอีก 10 จังหวัด
เหนือสิ่งใดจะกระทบชิ่งไปถึงโครงการที่รัฐบาลลุงตู่ฝันหวานจะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ก็คงต้องฝันค้างอย่างมิอาจปฏิเสธได้
ฉะนั้นชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู้กับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” อย่างแท้จริง
…………………………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”