วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 8, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“มูดีส์”ส่งสัญญาณอันตรายเตือน!!! ...ระวัง“ไทย”เสี่ยงเป็น“รัฐล้มเหลว”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“มูดีส์”ส่งสัญญาณอันตรายเตือน!!! …ระวัง“ไทย”เสี่ยงเป็น“รัฐล้มเหลว”

ในห้วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา “คนไทย” ได้รับแต่ข่าวร้าย ต้นเดือนมีนาคม เกิดแผ่นดินไหว ที่ประเทศเมียนมา ความรุนแรงสะเทือนมาถึงประเทศไทย ส่งผลให้ “ตึก สตง.” 30 ชั้น ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง พังถล่มชนิดไม่เหลือซาก สร้างความเสียหายและชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

เมื่อวันที่ 2 เมษายน “ไทย” ก็โดนหางเลขจากมาตรการภาษีใหม่ ของ ประธานาธิบดี “โดนัล ทรัมป์” ตอบโต้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ สำหรับไทยโดนภาษีใหม่อัตรา 36% บวกกับภาษีเบื้องต้นอีกไม่เกิน 10% นับว่าหนักที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็น “มรสุมทางเศรษฐกิจ” อีกลูก 

ขณะที่กำลังจะสิ้นเดือนเมษายนอยู่มะรอมมะร่อ จู่ๆ เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา “ไทย” ก็ได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง เมื่อ “มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ของโลก รายงานการปรับ “มุมมอง” (Outlook) สถานะการเงินของไทย จาก “เสถียรภาพ” (Stable) เป็นไปในทิศทางที่เป็น “แนวลบ” (Negative) เรียกว่า เดือนเมษายนเดือนเดียว…ไทยต้องโดน 2 เด้ง

เหตุผลสำคัญที่ “มูดี้ส์” ปรับมุมมองประเทศไทยเป็น “แนวลบ” เป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าและความกดดันทางการคลังจากภาระหนี้เพิ่มขึ้น

โดยทาง “มูดีส์” ยังย้ำอีกว่า อาจจะมีการปรับคะแนนความน่าเชื่อถือ (Credit Ratting) หากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงอีก หรือหากภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ถึงตอนนั้นคงปั่นป่วนไม่น้อย แต่ตอนนี้ยังคงอันดับเรตติ้งไว้ที่ Baa1 ไว้ก่อน

นับว่าเป็นความโชคดีของไทยที่ “มูดีส์” แค่ “ปรับมุมมอง” ยังไม่ได้ “ปรับเรตติ้ง” แต่ก็ถือว่าเป็นการ “ส่งสัญญาณเตือน” แล้ว และครั้งนี้ถือว่า เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าแบบชัดเจนกว่าทุกครั้ง และ “ไม่ใช่สัญญาญเตือนธรรมดา” แต่เป็น “สัญญาณเตือนภัยอันตราย” เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า ครั้งต่อไป…ไทยอาจจะต้องถูกปรับลดเครดิตลง หากรัฐบาลยังไม่เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเอาจริงเอาจังแบบยกเครื่องครั้งใหญ่ ก่อนที่ความเสียหายจะลุกลามจนควบคุมไม่ได้ 

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยถูกมรสุมปัจจัยลบรุมเร้า จากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะเรื่อง “วินัยการคลัง-การบริหารหนี้สาธารณะ” ที่เพิ่มขึ้น จนรัฐบาลมีแนวคิดจะขยายเพดานจากเดิมที่เคยขยายจาก 60% ของจีดีพี.มาเป็น 70% ของจีดีพี.ที่ปรับมาครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

ล่าสุดมีข่าวแว่วๆ ว่า “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” จะขอขยายเพดานเงินกู้เพิ่มขึ้นจากเดิม และยังมีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันกลับมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าที่คาดไว้ สวนทางกับการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านงบประมาณก็ขาดดุลต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน และไม่มีสัญญาณลดลง 

ที่สำคัญ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาลด้วยการแจก ดิจิทัล วอลเล็ต แจกไปแล้ว 2 รอบ รัฐบาลยังจะเดินหน้าแจกในรอบที่ 3 เร็วๆ นี้ โดยไม่สนใจเสียงท้วงติง คาดว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ ทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.8% ไม่เป็น “พายุหมุนเศรษฐกิจ” ตามที่โฆษณาชวนเชื่อ ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะมีต้นทุนสูง ซึ่งเป็นภาระลูกหลานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังดันทุรังเดินหน้า เฟส 3 ต่อและเตรียมกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ประกาศไว้ ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ครั้งหน้า “มูดีส์” ปรับลดเครดิตประเทศไทยได้

มิหนำซ้ำ…ยังมี “มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่” ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีใหม่ จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญปัญหาโตต่ำอยู่แล้ว จะยิ่งแย่ลงไปอีก เนื่องจาก “ส่งออกของไทย” ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯค่อนข้างสูง และความเสี่ยงจะยิ่งทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำลง อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

แม้วันนี้ “มูดีส์” แค่ “ปรับมุมมองไปในแนวลบ” แต่ก็ถือว่า “มีความเสี่ยง”

วันก่อน “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกถึงกรณีที่ “มูดีส์” ออกมาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยว่า “เป็นเพียงมุมมอง ไม่ใช่การให้คะแนนหรือเรตติ้ง และไม่ได้หมายความขาดความเชื่อมั่น”

คำพูดแบบนี้ของ “นายกฯแพทองธาร” ก็ไม่ผิดทั้งหมด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมดเช่นกัน แต่วิธีคิดแบบนี้อันตราย!!! 

เป็นความจริงที่ “มูดีส์” ปรับมุมมอง ไม่ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือ แต่การ “ส่งสัญญาณเตือนแบบนี้” ย่อมมีผลให้ “นักลงทุนต่างชาติ” ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐ ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องออกหุ้นกู้ในตลาดต่างประเทศ ดอกเบี้ยอาจสูงขึ้น เพราะหากตลาดตีความว่า มีความเสี่ยงมากขึ้น ผลต่อภาพลักษณ์ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง

ที่สำคัญ ความเชื่อมั่นต่อการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล จะถูกจับตามองจากนักลงทุน องค์กรต่างประเทศและสถาบันจัดอันดับมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องควบคุมการขาดดุลและหนี้สาธารณะต้องไม่สูงเกินเพดานกำหนด รวมทั้งเรื่องปฏิรูประบบภาษี ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนได้

ที่ควรทำเร่งด่วนคือ ยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ตระกูลนโยบายประชานิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจตามที่ชวนเชื่อ ส่วนโครงการลงทุนอื่นๆ ต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

อย่าลืมว่าอีก “2 สถาบันเครดิต” คือ “ฟิทช์ เรตติ้ง” และ “เอสแอนด์พี” จะออกรายงานอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในปลายปี หากนำเสนอรายงานไปในทางเดียวกับ “มูดีส์” ถึงตอนนั้น…ประเทศไทยอาจจะไปสู่จุดที่เรียกว่า “รัฐล้มเหลว” อย่างมิอาจปฏิเสธได้

…………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img