วันอังคาร, พฤษภาคม 20, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSพฤติกรรมหาผลประโยชน์จาก“ศรัทธา” วิกฤต‘วัดไทย’ในกระแส‘พุทธพาณิชย์’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พฤติกรรมหาผลประโยชน์จาก“ศรัทธา” วิกฤต‘วัดไทย’ในกระแส‘พุทธพาณิชย์’

ในยุคที่สังคมโหยหาความหวังมากกว่าข้อมูล “ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา” ของ “ประชาชน” กลายเป็นสินค้าที่ขายได้ดี จึงเป็นโอกาสให้ “วัด” ที่มีชื่อเสียงมีคนศรัทธามากๆ ได้ “ละเลยแก่นแท้ศาสนา” หันมาสู่การทำ “ธุรกิจศาสนา” หรือเรียกว่า “พุทธพาณิชย์” มาเป็นเครื่องมือในการหารายได้ ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ

แต่กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำกับวัดมากที่สุด ก็คือ “การบริจาคเงิน” อันนี้เรียกว่าเป็นรายได้หลักของวัดเลยทีเดียว มีการประมาณการว่า คนไทยบริจาคเงินให้กับวัดมากถึง 54,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ วัดทั่วประเทศ ถือครองสินทรัพย์ รวมมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาท ปัจจุบันจำนวนของวัดในไทยมีมากถึง 42,000 วัด โดยมีคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมากถึง 94% เรียกว่า เกือบจะทั้งประเทศทำให้วัดเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากวัดจะมีรายได้มาจากเงินบริจาคแล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุน จาก “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ด้วยข้อมูลปี 2564 วัดทั่วประเทศได้รับเงินสนับสนุน 500 ล้าน ซึ่งไม่พอกับจำนวนวัดที่มีมากถึง 42,000 แห่ง ดังนั้น วัดจึงได้หันมาให้ความสำคัญกับรายได้จากการบริจาคของชาวบ้าน

นอกจาก การบริจาค แล้ว วัดยังหารายได้ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การบูชารูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชารวมถึงการให้เช่าบูชาพระเครื่อง บูชาเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล และมีการเชิญชวนทำบุญบริจาคด้วยตู้รับบริจาค เช่นบริจาค ค่าน้ำ ค่าไฟและเครื่องเสี่ยงทาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังหารายได้จาก การทำพิธีกรรม เช่น งานอุปสมบท งานศพ หรือพิธีเสริมดวงแก้กรรมต่างๆ ทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ ทำบุญซื้ออาหารให้สัตว์ต่างๆ เป็นต้น มีการจัดหารายได้จากงานเทศกาล วันสำคัญตามประเพณี และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงทำบุญก่อสร้างสาธารณสมบัติ

ซึ่ง “จุดอ่อนของชาวบ้าน” อย่างหนึ่งคือ มีความเชื่อที่ว่า หากต้องการให้ได้บุญมากๆ ก็ต้องสร้างวัดวาอาราม โดยอาจเป็นเจ้าภาพที่ร่วมบริจาคด้วยจำนวนเงินตามที่ทางวัดระบุ พร้อมจูงใจด้วยการจารึกชื่อบนสิ่งปลูกสร้างนั้นไว้เป็นอนุสรณ์

สำหรับวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพิธีกรรมต่างๆ คือ ในทุกๆ พิธีกรรม หากมีการแฝงกิจกรรมทางการตลาดเข้าไป ยิ่งจะช่วยให้สามารถระดมเงินบริจาคได้มากขึ้น “กลยุทธ์การตลาด” ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง “อิทธิฤทธิ์” และ “ปาฏิหาริย์ต่างๆ” ที่จะนำไปสู่ “ความร่ำรวย”

ยิ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (ยุคดิจิทัล) การบริจาคให้กับวัด ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามไปด้วย นอกจากบริจาคตามตู้บริจาคที่ทางวัดจัดหาไว้ให้ “สถาบันการเงินต่างๆ” ได้แข่งขันการให้บริการกับวัดอย่างดี ให้บริการเทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย คาดกันว่า เงินจากวัดทั่วประเทศที่อยู่ในธนาคารหลายหมื่นล้านบาท เรียกว่า “วัด” เป็นลูกค้ารายใหญ่เลยทีเดียว

จากเม็ดเงินที่เป็นรายได้มหาศาลมาสู่วัด แต่มีหลายวัดหลายกรณีที่ “ผลประโยชน์” กลับมาอยู่ใน “คนใดคนหนึ่ง” หรือ “กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง” ที่มีส่วนในการบริหารจัดการหรือมีอำนาจ มีอิทธิพลภายในวัด

จะเห็นได้จากกรณี “วัดไร่ขิง” ที่ตกเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและมีผู้ศรัทธามากมาย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ “เจ้าอาวาส” ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกทรัพย์หลายร้อยล้านบาทไปใช้ส่วนตัว และนำเงินบริจาคไป “เล่นพนัน” จนกลายเป็น “ติดพนัน” แถมมีข่าว “พัวพันสีกาสาว” เพราะเงินบริจาคมหาศาลล่อตาล่อใจ

ย้อนกลับไปเมื่อราวสิบปีที่แล้ว มีกรณีของ “วัดพระธรรมกาย” เคยเป็นวัดที่คนเลื่อมใสศรัทธา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการใช้สื่อและเทคโนโลยีในการเผยแผ่ “ธรรมะ” จนมีผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ มีเงินบริจาคหลายพันล้านบาท ต่อมาสังคมก็ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการด้านการเงิน จนในที่สุดก็มีการสอบและจับกุมเจ้าอาวาส จนต้องหนีหายออกไปจากวัดจนทุกวันนี้

พฤติกรรมหาผลประโยชน์จาก “ความศรัทธา” แบบนี้ เชื่อว่ามีอีกหลายแห่ง แต่ที่เรื่องไม่อื้อฉาว เพราะ “กลุ่มผลประโยชน์” ยังสามารถจัดประสานประโยชน์กันได้อย่างลงตัว ทำให้ทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่ที่ตกเป็นข่าวให้เรา มักเห็นปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีปัญหานั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะ “มีผลประโยชน์ขัดกัน” ของ “คนที่เกี่ยวข้อง” จัดสรรปันส่วนไม่ลงตัว

ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้อง “ปฏิรูปสังคายนาครั้งใหญ่” ให้ “คณะสงฆ์” กลับมาอยู่กับศาสนาที่แท้จริง อยู่กับธรรมะ ลดละอะไรที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของวัดและขัดกับหลักศาสนา ไม่เปิดช่องให้แสวงหาผลประโยชน์

ต้อง “ออกกฏ” ให้ทุกวัดต้อง “รายงานฐานะการเงินประจำปี-บัญชีทรัพย์สินต่างๆ” กับ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เช่น กรมการศาสนา เพื่อแสดงความโปร่งใสให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับรู้ว่า เงินที่เขาบริจาคทำบุญนั้น นำไปใช้ในกิจกรรมทางศาสนาหรือไม่

ไม่ใช่ตกอยู่ “เจ้าอาวาส” กับ “กรรมการวัดไม่กี่คน” จนเกิดเหตุการณ์ “วัดครึ่งหนึ่ง-กรรมการครึ่งหนึ่ง” ซ้ำซาก

เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้ “ศาสนามัวหมอง” เป็นเพียงส่วนน้อย ยังเชื่อว่า วัดส่วนใหญ่ยังยึดปฏิบัติในแนวทางพุทธศาสนา ไม่มีด่างพร้อย แต่ส่วนหนึ่งต้อง “ตำหนิ” คนที่ทำบุญเพื่อหวังผล ทำบุญเอาหน้า บริจาคแบบไร้สติ ละเลยแก่นแท้ของพุทธศาสนา ทำให้วัดกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ เปลี่ยนศรัทธากลายมาเป็นพุทธพาณิชย์ อย่างที่เห็นทุกวันนี้

…………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย……“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img