วันอังคาร, เมษายน 8, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“ส่งออก”พระเอก...ที่โดนเท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส่งออก”พระเอก…ที่โดนเท

ขณะที่กระแสข่าวบ้านเรา สื่อส่วนใหญ่เร่งกระพือข่าว “ลุงตู่” และคณะรัฐมนตรี ร่วมเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรฏาคม ซึ่งเป็นโมเดลนำร่องที่รัฐบาลต้องการปักธง เปิดประเทศใน 120 วัน แต่มีข่าวเล็กๆ ที่แถลงก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน แต่น่าสนใจไม่น้อย

นั่นคือข่าว “ยอดการส่งออกของไทยในตลาดโลก” ประจำเดือนพฤษภาคมนี้ ทำสถิติส่งออกสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี

คงจำกันได้การส่งออกไทยที่เป็น “พระเอก” ในการหารายได้เข้าประเทศมาตลอด แต่เมื่อราว 3-4 ปีที่ผ่านมา ต้องเจอวิบากกรรม ทำให้ยอดการส่งออก “ลดฮวบ” จนบางเดือนต้องติดลบ เพราะโดนหางเลขจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ก็ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สวมบท “พระรอง” มาตลอดกาล กลายเป็น “ดาวรุ่ง” จนทำหน้าที่เป็น “พระเอก” ในการหารายได้เข้าประเทศแทน แม้ว่าสัดส่วนจากรายได้ จะต่างจากการส่งออกหลายขุมก็ตาม

แต่ครั้นประเทศไทยต้องเชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 “เครื่องยนต์ท่องเที่ยว” ต้องเผชิญกับมรสุม เครื่องยนต์ตัวเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่าง “ธุรกิจท่องเที่ยว” ต้องหยุดกิจกรรมโดยปริยาย กระทบถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่าง…โรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ รถตู้ ร้านค้ารายย่อย ต้องหยุดกิจการ พนักงานต้องตกงานกันเป็นแถว

แต่ความหวังของรัฐบาลไทย ก็ยังฝากไว้กับธุรกิจท่องเที่ยวที่จะกอบกู้เศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ท่ามกลางเสียงท้วงติงของนักธุรกิจและคนในพื้นที่ ซึ่งเห็นว่า “ไม่พร้อม” และเกรงว่าจะเกิดโควิดแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งหลังเปิดงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หนึ่งวัน ก็มีประกาศจากทางจังหวัด ให้ประชาชนห้ามเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เพราะมีผู้ติดเชื้อโควิดหลุดเข้ามาใน “แซนด์บ็อกซ์” แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป

แต่เท่าที่ฟังจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะคนในพื้นที่ทำท่าว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะล่มปากอ่าว จากความไม่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความลังเล ไม่กล้ามาเที่ยว พวกที่มาก็มีไม่กี่ร้อยคน และน่าห่วงตรงที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ยังเป็น “สีแดง”

นั่นหมายความว่า หาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ล่ม” และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยังพุ่งสูงปรี๊ด อาจจะดับฝัน “ลุงตู่” ที่ประกาศเปิดประเทศใน 120 วันได้ แต่ด้วยแรงกดดันของนักธุริจที่ผลักดันให้เปิดประเทศ หวังจะให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ โดยเฉพาะในเรื่อง “การท่องเที่ยว” ที่ฟุบไปนานเกือบ 2 ปี

แต่รัฐบาลอาจจะลืมคิดไปว่า การหารายได้เข้าประเทศ ไม่ใช่มีแค่รายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น รายได้หลักจริงๆ คือ “การส่งออก” ยิ่งเมื่อเทียบรายได้จากการท่องเที่ยว มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี. จ้างงานทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มีราว 20 ล้านคน ขณะที่ “การส่งออก” ที่มีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี. การจ้างงานหากรวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนย่อมมากกว่าแน่ๆ

ฉะนั้นเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่พร้อม รัฐบาลควรจะหันมาสนใจและใส่ใจ “เครื่องยนต์ส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวสะท้อนจากในรอบเดือน 4 เดือน ยอดการส่งออกเป็นบวกติดต่อกัน ล่าสุดในเดือนพ.ค.2564 ยอดการส่งออกมีมูลค่า 714,885.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี

ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลี เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการ “ค่าเงินบาทอ่อนค่า”

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่ก็มีอุปสรรคตั้งแต่เกิดโควิดระบาดเข้าไปในโรงงาน จนต้องปิดโรงงาน ย้ายไลน์การผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งมอบลูกค้าต่างประเทศได้ทันตามออร์เดอร์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ยกขบวนบุกไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอ “วัคซีน” มาฉีดให้แรงงานในโรงงาน แต่ปรากฏว่าไม่มี จะให้พร้อมยอมรับว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้โควต้าวัคซีนจากรัฐบาล ซึ่งวัคซีนทั้งหมดถูกขนไปภูเก็ตและสมุย เพื่อฉีดให้คนในพื้นที่ รองรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ไม่ต้องพูดถึงที่ก่อนนี้ การส่งออกของไทยก็มีปัญหา “ค่าขนส่ง” ที่แพงขึ้นพรวดพราดทันที 4-5 เท่า ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต เคยมีค่าระวางเพียง 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐ ก็พุ่งขึ้นไปถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้ “ต้นทุน” ของผู้ประกอบการสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อีกปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ชิป” ชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกรถยนต์และสินค้าไอที. ขาดแคลนอย่างหนักทั่วทั้งโลก ปัญหาเหล่านี้ทำให้การส่งออกของไทยเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะรัฐบาลมัวแต่มะรุมมะตุ้มอุ้ม “ท่องเที่ยว” แต่ลืม “เค้กก้อนใหญ่” นั่นคือ “การส่งออก” ที่สำคัญการที่รัฐบาลจะเปิดประเทศฟื้นท่องเที่ยวนั้น คงจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไม่มาก เขาคงท่องเที่ยวกันในประเทศหรือประเทศใกล้ๆ บ้านเขาก่อน ส่วนไทยคงเป็นตัวเลือกท้ายๆ

จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมาภูเก็ต อยู่ไม่เกิน 5 วัน แต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะให้อยู่ 14 วัน นานเกินไป จนมีข่าวว่านักท่องเที่ยวต่างชาติพากันร้องโวยวาย ยิ่งตอนนี้รัฐบาลจีนยังปิดประเทศ คาดว่าจะปิดไปถึงปลายปี ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ราว 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด ก็คงมาเที่ยวไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะมีนักท่องเที่ยวมาจากไหน

ดังนั้นรัฐบาลควรจะหันมาใส่ใจและสนใจแก้ปัญหาส่งออกที่กำลังมาแรงไม่ดีกว่าหรือ???

……………………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img