ถ้อยแถลงของผู้ว่าฯปู “วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่เขียนลงเฟสบุ๊คถึงการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 แต่ต้องมีปัญหาในเรื่องกฏระเบียบและขั้นตอนของระบบราชการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตประชาชนว่า “ถ้าระเบียบ ทำให้ประชาชนต้องตายเพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่า ต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง ให้มันรู้ไปว่า ระเบียบ กับ ความตาย อะไรสำคัญกว่า”
ข้อความระบายความรู้สึกของผู้ว่าฯปูในอาการที่ทนไม่ไหว สะท้อนถึงความแข็งตัวของระเบียบราชการ จนกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังรุนแรงขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ แต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ปัญหาระบบราชการ “แข็งตัว” นั้นมีมานาน แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้มีวิกฤติรุนแรงและยาวนานเท่ากับวิกฤติครั้งนี้มาก่อน การบริหารจัดการวิกฤติในอดีต จึงใช้ระเบียบกฏหมายแบบเก่าๆ ได้ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ สถานการณ์ปกติแต่รัฐบาลยังใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดิมๆ และยึดกฏระเบียบเก่าๆ จึงล่าช้าไม่ทันกับสถาการณ์
ในห้วงเวลาปีกว่าๆ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดจะเห็นว่า มีปัญหาติดขัด ทั้งจากระเบียบราชการและวิธีการทำงานแบบข้าราชการมาโดยตลอด ตั้งแต่กรณีการจองวัคซีนที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยากจะจองวัคซีนมาฉีดให้กับสมาชิกในชุมชน ปรากฏว่า ติดระเบียบของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่สามารถทำได้
แม้แต่กรณีการเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาสำหรับรับมือวิกฤติโควิด-19 ระบาดก่อนหน้านี้ เฉพาะในส่วนกระทรวงสาธารสุข ได้รับจัดสรรงบฯ 5 หมื่นล้านบาท ผ่านไป 1 ปี มีการเบิกจ่ายแค่ 30% เท่านั้น ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะติดขัดระเบียบราชการ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ขาดเครื่องไม้เครืองมือทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป
ไม่ใช่รัฐบาลไม่มีเงิน แต่เพราะติดระเบียบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย คนที่รับผิดชอบก็ไม่กล้าดำเนินการ หากทำไปโดยพลการ อาจผิดระเบียบ ก็จะมีความผิดได้ อาจจะถึงขั้นติดคุกติดตารางได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งจองวัคซีนผ่านองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ยื่นเรื่องไปนานหลายเดือน เพราะติดปัญหาระเบียบราชการเช่นเคย จึงทำให้เกิดความล่าช้า ทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่า ติดขัดตรงไหน อย่างไร
กระทั่งมีข่าวปล่อยโยนบาปให้ไปสำนักอัยการสูงสุดว่า ร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการฯนานหลายเดือนแล้ว ทางสำนักงานอัยการฯจึงต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงไม่เคยได้รับหนังสือมาก่อน ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ก็สะท้อนวิธีการทำงานของระบบราชการได้เป็นอย่างดี
ปัญหาระเบียบราชการ รวมถึงความล่าช้าในการทำงานของข้าราชการไทย กลายเป็นอุปสรรคทุกหัวระแหงยิ่ง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยผ่านการรับราชการมาเกือบครึ่งชีวิต การบริหารประเทศจึงบริหารแบบ รัฐข้าราชการ ยังให้ความสำคัญและมักจะฟังข้าราชการ มากกว่านักการเมือง
อย่าลืมว่าข้อด้อยของระบบราชการคือ ไม่กล้าตัดสินใจ หรือบางครั้งก็ตัดสินใจชักช้า แม้ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้รวบอำนาจจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไว้ในมือคนเดียว แต่ไม่สามารถแก้วิกฤฤติได้ เพราะ “คิดแบบราชการ” และถูก “รัฐราชการ” ครอบงำ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่กล้าสั่งการที่ขัดต่อระเบียบราชการเดิมๆ วิธีที่กระทั่ง ตั้ง “ศบค.” ซึ่งล้วนมีแต่ “หมอ” ที่เป็นอดีตข้าราชการ เท่ากับสร้างระบบราชการขึ้นมาเพิ่มอีก ยิ่งกลายเป็นคอขวด หนักขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขเองในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ยึดกฎระเบียบเป็นคัมภีร์ เวลาจะทำอะไรทั้งหลาย ก็อ้างกฏระเบียบอย่างเรื่องการซื้อยา รัฐบาลต้องเป็นคนซื้อเท่านั้น ไม่ให้เอกชนซื้อ ทำให้ติดที่กฎระเบียบไม่คล่องตัว กระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ จะโดยตรงหรืออ้อม ต่างก็มีอาณาจักรของตนเอง เหมือนเป็นรัฐอิสระ
หากจะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือต้อง “ปลดล็อครัฐข้าราชการ” แล้วบริหารแบบนักบริหารแบบมืออาชีพ อะไรเป็นอุปสรรคต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด จึงจะนำประเทศก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้
……………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…. “ทวี มีเงิน”