วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 5, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ล็อคดาวน์’เหลว..ฉุด‘เศรษฐกิจ’ติดหล่ม
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ล็อคดาวน์’เหลว..ฉุด‘เศรษฐกิจ’ติดหล่ม

สถานการณ์การแพร่ระบาดรอบ 3 ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าที่คาดไว้เยอะ จนรัฐบาลตั้งรับไม่ทัน การบริหารจัดการของรัฐบาลตอนนี้อยู่ในสภาพ “เมาหมัด” ทำอะไรดูพลาดไปหมด แม้แต่การ “ล็อคดาวน์” รอบนี้ ดูจะล้มเหลว เพราะไม่ได้ทำให้คนติดเชื้อและตายน้อยลง

รายงานสถานการณ์โควิดล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 64 ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 19,603 คนและผู้เสียชีวิต 149 คนก่อนหน้านี้ ตัวเลขทะลุ 2 หมื่นคน บางวันมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงภาวะผู้นำของ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่จะนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังไม่สามารถสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนได้

อย่างกรณีการประกาศ “ล็อคดาวน์” ครั้งนี้ เข้มงวดจนส่งผลกระทบกับการทำมาหากินและกับวิถีชีวิตชาวบ้าน สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจมหาศาล แต่ตัวเลขความสูญเสียนั้น กลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่เจตนาในการล็อคดาวน์ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา “สุขภาพ” เป็นหลัก ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลไม่ฉวยจังหวะนี้เร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ใกล้เป้าหมาย 70% เพื่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไป

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง เกิดจากรัฐบาลเล่นการเมืองกันเอง ระหว่างผู้มีอำนาจในเรื่องนี้ และเกิดจากผลประโยชน์ขัดกัน ทำให้ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งที่คนไทยส่วนใหญ่พร้อมฉีดกันเต็มที่ ถึงขั้นต้องแย่งกันเข้าคิวรอเป็นชั่วโมงๆ

การล็อคดาวน์ไม่มีความจำเป็น ถ้ารัฐบาลพูดความจริงกับประชาชนให้เข้าใจตั้งแต่แรก คนส่วนใหญ่ก็พร้อมจะร่วมมืออยู่แล้ว ในเชิงจิตวิทยาทุกคนจะรักตัวกลัวตายมากกว่ากลัวกฏระเบียบที่บังคับใช้ คนที่จะฝ่าฝืนคือคนที่มีความจำเป็นจริงๆ จะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น ที่ต่อให้รัฐบาลล็อคดาวน์ยังไง ก็จะฝ่าฝืนอยู่ดี จึงไม่แปลกใจที่ “นิเคอิ” นิตยสารชื่อดังของญี่ปุ่น ได้จัดอันดับให้ไทยฟื้นตัวช้าที่สุด ในจำนวน 120 ประเทศซึ่งได้คะแนนเท่ากับเวียดนาม

การล็อคดาวน์ล้มเหลว จึงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ภาคธุรกิจเอกชนและโรงงานต่างๆจำนวนไม่น้อยเริ่มทะยอยปิดกิจการพวกธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ “กำลังรอวันเจ๊ง” ส่งผลให้คนงาน-พนักงานนับกว่าล้านคนต้องตกงาน สิ่งที่ตามมาคือกำลังซื้อของคนในประเทศตกต่ำ การจับจ่ายใช้สอยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 ลงโดยประเมินว่าจะขยายตัวระหว่าง -1.5-0.0% ขณะที่กระทรวงการคลัง ยังประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 1.3% ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล สำนักวิจัยเศรษฐกิจในสถาบันการเงินต่างๆ ของไทย ก็ปรับลดจีดีพีปีนี้ น่าจะติดลบอย่างดีก็ขยายตัว 0% หรือไม่มีการเติบโต

ขณะที่ สถาบันระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ก็ปรับลด GDP ของไทย ไทยปีนี้เหลือ 2.2% จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่อยู่ในระดับต่ำ

คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากขึ้นจริงๆ ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น เป็นไปโดยยาก ทั้งนี้แม้เครื่องยนต์ “ส่งออก” ที่ตอนแรกทำท่าจะไปได้ดี แต่ก็ต้องเจอปัญหาโควิด-19 บุกโรงงานต่างๆ ต้องกลายเป็นอัมพาต ผลิตได้ไม่เต็มที่ ทั้งที่ออร์เดอร์จากต่างประเทศจ่ออยู่แค่หน้าประตูโรงงาน

หากเจาะลึกลงไปยังภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ยิ่งเลวร้ายกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่เงียบเหงาซบเซา มีร้านจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการ เพราะไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขของ ศบค.ได้ ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า แม้ภายหลัง ศบค.จะผ่อนปรนให้ขายได้ แต่จะต้องซื้อผ่าน “ไรเดอร์” เท่านั้น มาตรการนี้กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างมาก

นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

……………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img