ปรากฏการณ์ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือที่เรียกติดปากว่า “SCB” ซึ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ มีอายุกว่า 115 ปี ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ในนาม “สยามกัมมาจล” นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรก ได้สร้างความฮือฮาเมื่อกล้าปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง
จากบทบาทการของธนาคารพาณิชย์เดิมที่มีรายได้หลักคือ การรับฝากและปล่อยกู้ มีรายได้จาก “ส่วนต่างดอกเบี้ย” มาเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น “บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค”
อย่างไรก็ตาม หากลองย้อนประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ในอดีตธนาคารไทยพาณิชย์ได้ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นธนาคารแห่งแรกที่นำระบบ ATM เข้ามาใช้ เมื่อปี 26 เรียกว่า “บริการเงินด่วน” หรือเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็สร้างความฮือฮาด้วยแต่งตั้งนักการตลาดอย่าง “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” แห่งยูนิลีเวอร์ มานั่งเก้าอี้ CEO เพื่อบุกเบิกงานด้านรีเทลแบงก์กิ้ง
เมื่อราว 3 ปีก่อนก็เป็นรายแรกที่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน, กดเงินของธนาคาร และปีที่แล้วโควิดระบาดหนัก ผู้ประกอบการร้านอาหารโดน “ฟู้ดเดลิเวรี่” โขกค่าจีพี.มหาโหด “ไทยพาณิชย์” ก็ปั้น “โรบินฮู้ด” เป็นฟู้ดเดลิเวรี่ให้บริการร้านอาหารฟรีไม่ต้องจ่ายค่าจีพี.
แต่สิ่งที่ได้มาวันนั้น ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ “ข้อมูล” มากมาย กลายเป็น “ขุมทรัพย์ใหม่” และแตกหน่อต่อยอดมาเป็น SCB X วันนี้
ในการตั้ง “SCB X” เป็นโฮลดิ้งคอมพานี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยานแม่ฟินเทค” โดยประกาศว่าภายใน 5 ปี SCB X กำไรโต 1.5-2 เท่า มาร์เก็ตแคป แตะ1 ล้านล้านบาท และโอนย้ายบริษัทย่อย และการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ตั้งเป็นบริษัทใหม่
สำหรับโครงสร้างใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.ธุรกิจที่เป็น Cash cow ธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไร จะเป็นธุรกิจธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์ จำกัดและ 2.ธุรกิจ New Growth กลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตใหม่ เน้นประสิทธิภาพ และลดต้นทุน สามารถเลือกกลุ่มการเติบโตหรือ segment product ได้
ทั้งนี้ SCB X ใช้วิธีแตกหน่อเป็น “บริษัทตระกูล X” ราว 15-16 บริษัท โดยจะ “แตกตัว” สร้างธุรกิจขึ้นธุรกิจใหม่ มีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ ร่วมถือหุ้นในหลายธุรกิจ เช่น บริษัทอัลฟ่าเอ็กซ์ ร่วมมือกับมิลเลเนี่ยมกรุ๊ป ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับรถหรู, ออโต้เอ็กซ์ ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีซซิ่ง เน้นกลุ่มรากหญ้า, เอไอเอสซีบี. ร่วมมือกับ เอไอเอส. ทำสินเชื่อ ดิจิตอล, โรบินฮู๊ด ธุรกิจส่งอาหาร, กองทุนซีพีจี-เอสซีบี. ร่วมมือกับเครือซีพีจัดตั้ง VC Fund เพื่อไปลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกเป็นต้น
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ. ได้ไล่เรียงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัว ของ SCB สู่ SCB X และเส้นทางธุรกิจในอนาคตที่เชื่อมั่นว่าธนาคารในรูปแบบเดิมกำลังหมดอนาคตแล้วและชี้ให้เห็นแนวโน้มของการถูก ดิสรัปท์ ว่าเริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อน และจะชัดเจนมากในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยประเมินว่า ประมาณปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน มากขึ้น
ขณะเดียวกันเชื่อว่าผู้บริหารก็เห็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไรจากเทรนด์ของโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้น โดยในปี 63 คนไทยทำธุรกรรมผ่าน “โมบายแบงกิ้ง” เป็นอันดับ 1 ของโลก ซื้อสินค้าอี-คอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี
ยิ่งในช่วงหลังเข้ามาสู่ใน “ยุคฟินเทค” ธนาคารรูปแบบเดิม เริ่มไม่ได้เปรียบในการแข่งขันเพราะถูกคุมด้วยกฏระเบียบของแบงก์ชาติ สะท้อนจากคำพูดของซีอีโอ.ในวันแถลงข่าวที่ว่า “ราคาบริษัทแกร็บมีมูลค่ากว่าแบงก์ไทยพาณิชย์อีก”
ดังนั้นการ “ดีดตัวเอง” ออกมาเป็นอิสระ ทำให้การรุกน่านน้ำใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จะมีความคล่องตัวกว่า พร้อมขยายฐานลูกค้าด้วยการบุกตลาดอาเซียน อย่าง…เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นเป้าหมาย
ในการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะมีการแตกบริษัทย่อยออกมา 15-16 บริษัท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ พร้อมกับการผลักดันบริษัทเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไปดังนั้นเป้าหมายที่จะสร้าง มูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาทย่อมเป็นไปได้
อย่าลืมว่า จุดแข็งของทุนธนาคารรวมถึง “SCB” คือ “เงินทุนแข็งแกร่ง” แต่หากเสริมด้วย “แพล็ตฟอร์มเทคโนโลยี” ในการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจคู่แข่งเดิมคงจะหนาวๆร้อนๆ…นี่คือกลยุทธ์ยุทธ์แตกเพื่อโตของ SCB X
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายธนาคารก็ทำธุรกิจคล้ายๆ กัน เพียงแต่ยังอยู่ใต้ร่มเงาธุรกิจแม่ ยังไม่แตกตัวออกมา ต้องจับตานับจากนี้…สมรภูมิการเงินดุเดือดแน่ๆ
……………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย…“ทวี มีเงิน”