แม้น้ำท่วมใหญ่ปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เพราะเพิ่งเจอแค่ “เตี้ยนหมู่” ลูกเดียว แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าก่อนหมดหน้าฝนนี้ จะมีพายุลูกใหญ่ๆ เข้ามาอีกหรือไม่
แต่นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหลายคนยืนยันว่า ปริมาณน้ำปีนี้คงแค่ 1 ใน 4 ของน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 อาจจะมีน้ำท่วมหนักบางพื้นที่ แต่ไม่ใช่บริเวณกว้างเหมือนเมื่อก่อน
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยังรู้สึกหวาดผวา เกรงว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คราวนั้นได้สร้างความเสียหายมีมูลค่าสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาทและบ้านเรือนเสียหาย 1.9 ล้านหลังคาเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 5.3 ล้านคน
บรรดาโรงงานสำคัญๆ ในนิคมอุตสาหกรรม หลายแห่งถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศได้รับความเสียหาย คิดเป็นกว่า 70% ของความเสียหายทั้งหมดและส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ลดลงไปถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่คราวนั้น มีหลายโรงงานที่เป็นของต่างชาติ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแทน เพราะไม่เชื่อมั่นในแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลไทยในขณะนั้น คราวนี้ก็เช่นกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของโรงงานที่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ต่างก็พากันหวาดผวาว่าน้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54
อย่างที่รู้ๆ กันว่า น้ำท่วมใหญ่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงและยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย
ผลพวงจากมหาอุทกภัยในครั้งนั้น ทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ต้องเร่งจัดทำ ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ สำหรับการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมในปี 55 ซึ่งเป็นแผนเร่งด่วนและเป็นการประกาศใช้ชั่วคราวหากว่าในปี 55 เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 54
อย่างไรก็ตาม แผนยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างก็ต้องสะดุดหยุดลงลง เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูก “คสช.” นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำรัฐประหารในปี 57 พร้อมยึดอำนาจบริหารและยึด “แผนการบริหารจัดการนํ้าระดับชาติ” มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท มาบริหารจัดการเอง
หลังจากนั้น รัฐบาลคสช.ได้จัดทำและประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี” (พ.ศ. 2558-2569) พร้อมตั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมากำกับดูแล โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแล และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นอกจากจะตั้ง “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” แล้ว ในปี 61 รัฐบาลคสช.ยังออกพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำและแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (ระหว่างปี 61-80) นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แผนแม่บทใช้มาแล้ว 4 ปีและในปีนี้เอง ก็เป็นอีกปีที่คนไทยต้องเผชิญกับเหตุน้ำท่วมใหญ่บ้านเรือนและไร่นาเสียหายหนัก
จะว่าไปแล้วนับตั้งแต่รัฐบาล คสช.ยึดการบริหารจัดการนํ้าหลายแสนล้านบาทไปดูแล จนถึงรัฐบาลนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวกันแผนบริหารจัดการน้ำ แทบจะไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย การขับเคลื่อนแผนแม่บทสู่การปฏิบัติ ส่วนใหญ่ก็ยังไปไม่ถึงไหน
ทั้งที่วัตถุประสงค์การจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำขึ้นมา ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ผ่านมา 4 ปี ไม่รู้ว่ามีการนำแผนแม่บทนี้ไปดำเนินการอะไรที่ออกมาเป็นรูปธรรมบ้าง
ยิ่งกว่านั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ก็ไม่มีน้ำยาอะไร ทั้งที่โดยหลักการต้องมีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและในทุกมิติ รวมถึงมีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกหน่วยงาน แต่เอาเข้าจริงกลับสั่งใครไม่ได้ ทำได้แค่ประสานหน่วยงานต่างๆ การปฏิบัติงานก็ยังเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเดิมๆ ที่มีภาระกิจรับผิดชอบอยู่แล้ว
ทั้งที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้รับงบประมาณแต่ละปีนับแสนล้านบาท แต่ผลที่ได้ไม่คุ้มค่า ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ใช้งบฯแบบเบี้ยหัวแตก ซึ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะแก้วิกฤติระยะยาว
ขนาด “บิ๊กตู่” เดินทางไปตรวจน้ำท่วมที่สุโขทัยกลับมา ยังโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ได้สั่งให้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ให้จัดทำ “แผนรับมือนํ้าท่วมระดับประเทศ” ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งงานทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ
ระดับ “บิ๊กตู่” ผู้นำประเทศไม่รู้ว่าแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำที่ตัวเองปั้นมากับมืออยู่ไหน ถึงขั้นสั่งให้ทำแผนรับมือน้ำท่วมขึ้นมาใหม่ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”