ปี 2564 คนไทยต้องกับเผชิญวิกฤติใหญ่ๆ ถึง 2 วิกฤติทับซ้อนจนอาจจะเรียกว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ก็ได้ เริ่มจากวิกฤติโควิด-19 ระบาดมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันสถานการณ์ยังหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงแต่อย่างใด
นับจากนี้อีกแค่สัปดาห์กว่าๆ ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ตามนโยบาย “รัฐบาลลุงตู่” เพื่อ “รีสตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ขึ้นมาใหม่ หลังจากช็อร์ตไปเกือบๆ 2 ปี ก็คงต้องลุ้นว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
ลำพัง “วิกฤติโควิด” คนไทยก็ตกระกำลำบาก ทั้งการใช้ชีวิตที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน และต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเรื่อยมา แถมเมื่อเดือนที่แล้ว ยังต้องเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่จากพายุ “เตี้ยนหมู่” สร้างความเสียกับทรัพย์สินบ้านเรือน รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายไม่น้อย
เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ก็ยังเจออิทธิพลของพายุโซนร้อน “คัมปาซุ” ทำฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้นเข้าตำรา “ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก” เรียกว่าปีนี้เป็นปีที่คนไทยต้องเผชิญวิบากกรรมจริงๆ

อย่างไรก็ตาม วิกฤติดังกล่าว คนที่ต้องประสบชะตากรรมยากลำบากที่สุดคือ “คนตัวเล็ก” ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงคนชั้นกลางและคนชั้นล่างที่เรียกว่า “คนระดับรากหญ้า” กลุ่มหลังนี้หนักสาหัสกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความ “เปราะบาง” มากที่สุด
เมื่อคราวโควิด-19 ระบาดต้นปีที่แล้ว รัฐบาลลุงตู่สั่ง “ล็อคดาวน์” นานหลายเดือน ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่สายการบิน, ทัวร์, โรงแรม, ร้านอาหาร ต้องปิดตัว คนทำงานในวงจรธุรกิจนี้กว่า 10 ล้านคน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ดูแลครอบครัว
อันที่จริงไม่เฉพาะธุรกิจที่อยู่ในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเท่านั้นที่ได้รับความเดือร้อน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ เช่น โรงหนัง, ผับ, สปา, ฟิตเนส, ร้านค้าต่างๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด คนงานต้องตกงานกันเป็นแถว
ยิ่งในปี 64 สถานการณ์โควิดก็ยังรุนแรงรัฐบาลลุงตู่ต้อง “ล็อคดาวน์” อีกครั้ง แต่การแพร่ระบาดโควิดรอบนี้ กลับมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ตรงข้ามกับสถานการณ์เศรษฐกิจกลับทรุดลงเรื่อยๆ กิจกรรมทางธุรกิจชะงักงัน คนที่บอบช้ำมากที่สุดคือผู้ประกอบการรายเล็กๆ พวกเอสเอ็มอี.ที่มีกว่า 3 ล้านราย เริ่มทะยอยปิดกิจการ คนที่อยู่ในวงจรธุรกิจนี้หลายล้านคนต้องตกงาน
แม้รัฐบาลประกาศปิดห้างสรรพสินค้า แต่เจ้าของห้างฯไม่ได้เดือดร้อนอะไร คนที่เดือดร้อนคือ “คนตัวเล็ก” ผู้ประกอบการ, ร้านค้า, ร้านอาหาร และธุรกิจเอสเอ็มอี. ที่เช่าพื้นที่ในห้างฯขายของ เพราะยังต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างเหมือนเดิม

ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เจอโควิดระบาดเช่นกัน จนต้องปิดโรงงานชั่วคราว หรือต้องลดกำลังการผลิต คนงานไม่น้อยถูกเลิกจ้าง ซึ่งจากการสำรวจของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง พบว่า “คนจนเมือง” เจอผลกระทบช่วงวิกฤตโควิด กว่า 60% รายได้ลดลง คนจนกว่า 50% ไม่มีเงินส่งหนี้
วิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายเล็กคนชั้นกลางและ “คนระดับล่าง” อย่างมาก ซึ่งธนาคารโลกระบุว่า ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ส่งผลต่อกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย
ขณะที่ “คนรวย” ไม่ได้รับผลกระทบแม้แต่น้อย สะท้อนจากการจัดอันดับ 50 เศรษฐีของไทยในปีนี้ โดยนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย พบว่า สินทรัพย์ของคนรวยในกลุ่มนี้ กลับเพิ่มขึ้นกว่าเกือบ 900,000 ล้านบาท หรือจะเห็นได้จากตัวเลขกำไรของบริษัทในตลาหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ที่เป็นตัวแทนระดับหนึ่งของคนที่ร่ำรวยก็โตขึ้นมากว่า 220% จากปีก่อน
สอดคล้องกับผลวิจัยจาก บ.ชั้นนำ Fitch Ratings (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้จัดอันดับไว้ว่า บริษัทรายใหญ่ๆ ในไทย ต่างมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการตอกย้ำว่าการฟื้นตัวจากวิกฤติของคนรวย ฟื้นได้เร็วกว่าคนชั้นกลางและคนจนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ในรอบเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเจอ “วิกฤติ” จากพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้น้ำท่วมใหญ่ นาข้าวเสียหายกว่า 2 ล้านไร่ และเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ก็ยังโดนหางเลขจากพายุ “คัมปาซุ” ถล่มซ้ำอีกรอบ ลูกหลังนี้ยังไม่มีการประเมินความเสียหาย ว่าจำนวนเท่าไหร่
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นกับภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบายน้ำของทางราชการ จะเน้นไปที่ภาคเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายพื้นที่ในเมือง ซึ่งถือเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจ” ทั้งที่นาข้าว พืชไร่ทั้งหลาย ก็เป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ “เกษตรกร” เสียงไม่ดังเท่าคนในเมือง ที่ทำธุรกิจทำมาค้าขายเท่านั้นเอง
ไม่ว่าวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือความเสียหายที่เกิดจากพายุโซนร้อนถล่ม คนที่บอบซ้ำมากที่สุด มักจะเป็นคนระดับล่างที่เรียกว่า “รากหญ้า” เป็นเรื่องจริงที่มิอาจปฏิเสธได้
……………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”