นับเป็นข่าวใหญ่ เมื่อ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ “เอสซีบีเอส.” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ “เอสซีบีเอ็กซ์” เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท
สำหรับ “บิทคับ ออนไลน์” เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็นผู้นำในด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย
จะเห็นได้จากผลประกอบการในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2564 ที่ผ่านมา “บิทคับ” มีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่รายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต. รวมประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 92 %โดยในช่วง 9 เดือนดังกล่าว บิทคับมีรายได้รวม 3,279 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,533 ล้านบาท
ดังนั้นการที่ “เอสซีบีเอส.” เข้าไปถือหุ้นใหญ่บิทคับ 51% เท่ากับตอกย้ำว่า อนาคตของสกุลเงินดิจิตอล “คริปโต” (crypto) ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจการเงินของไทยในอนาคต ขณะเดียวกันเท่ากับสร้างความมั่นใจให้กับนักลงลงทุน รวมถึงคนที่สนใจ ก็จะเชื่อมั่นและมีความเข้าใจมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เคยสนใจ ก็จะหันมาสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา “คริปโต” ถูกมองในแง่ลบ ตกเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด
ทำไม “เอสซีบีเอส.” ถึงเข้ามาถือหุ้นบิทคับ ก็ต้องบอกว่าการทำธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้วิธีลัดง่ายกว่าการ “ปั้นธุรกิจ” ขึ้นมาเอง เพราะการทำแพล็ตฟอร์มเองต้องใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งทำมาแล้วก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ การซื้อเบอร์หนึ่งอย่าง “บิทคับ” ยังจะได้ลูกค้าเดิม ได้เทคโนโลยี ได้บุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่จะเกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมาย
นอกจากนี้ฐานลูกค้าเก่าของเอสซีบีเอกซ์ 16 ล้านราย อาจจะมีบางส่วนสนใจโยกย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น สมมติแค่ 10% ก็มีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกตั้ง 1.6 ล้านราย รวมกับลูกค้าเดิมบิทคับ ตลาดก็จะใหญ่ขึ้นทันที นั่นหมายถึงค่าธรรมเนียมจากการซื้อ-ขาย ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
ขณะที่ “บิทคับ” ยอมเข้ามาอยู่ใต้ปีก “เอสซีบีเอ็กซ์” นั้น ในเชิงธุรกิจแล้ว การมีพาร์ตเนอร์เป็นแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ ย่อมทำให้การทำงานมีความคล่องตัว มีเงินทุนหนากว่าการเป็นแค่ “สตาร์ทอัพ” แน่ๆ แม้หลายคนอาจจะค่อนขอดว่า ไหนเคยบอกว่าจะมา “ดีสทรัป” แบงก์ แต่ทำไมถึงกลับลำมารวมกับแบงก์
อย่างที่ “ท็อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้บริหารบิทคับ บอกกับนักข่าวว่า “ตอนนี้เราได้พาบิทคับมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก และเพื่อที่จะนำบิทคับให้ก้าวไปสู่ระดับโลก พวกเราต้องการพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งมาเป็นกำลังเสริม ให้ไปถึงได้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลที่เราจับมือร่วมกับเอสซีบีเอ็กซ์”
แถมการรวมกับแบงก์เบอร์ต้นๆ ของประเทศ ทำให้บิทคับมีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานกำกับดูแลมากขึ้นทั้งนี้ “ท๊อป-จิรายุส” คงได้บทเรียนจากการเป็นรายเล็กที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย เพราะสกุลเงินดิจิทัล หรือ “คริปโต” เป็นเรื่องใหม่มากๆ จึงถูกหน่วยงานที่กำกับดูแล เข้าตรวจสอบอย่างหนัก แต่การมีเอสซีบีเอกซ์มาถือหุ้น ย่อมทำให้อำนาจต่อรองกับหน่วยงานกำกับดูแล มีน้ำหนักมากขึ้นอย่างมิอาจปฏิเสธได้ หากมองในมุมนี้ก็เข้าใจได้
ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่ “เอสซีบีเอกซ์” เท่านั้น ที่แปลงร่างไปเป็นเทคคอมปะนี ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ก็อยู่ในช่วงดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่โลกการเงินดิจิทัล พร้อมกับการออกนอกกรอบการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแบบเดิมๆ เป้าหมายก้าวสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน” หรือเป็น “เทคคอมปะนี” ด้วยเช่นกัน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาและเพื่อลดต้นทุน และเน้นบริการตัวเองมากขึ้น
เมื่อธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับตัวครั้งใหญ่เพื่อ แปลงร่างเป็น “เทคคอมปะนี” คงต้องถามฝ่ายกำกับดูแลพร้อมเร่งขยับตัวตามหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ หรือ ก.ล.ต รวมถึง ปปง. การกำกับจะต้องให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเส้นแบ่งระหว่างเครื่องมือการเงินแบบเดิมๆ กับเทคโนโลยีการเงินสมัยใหม่ กติกาย่อมไม่เหมือนกัน
ที่สำคัญหน่วยงานกำกับดูแล ต้องไม่ใช่แค่การจ้องจับผิดอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันโลกการเงินแห่งอนาคด พร้อมกับต้องเร่งให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างถูกต้องตามกติกาและมีความยั่งยืน รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในสังคมได้รู้และเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันด้วย
……………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”