หากจะพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่ครบเครื่องรอบด้านที่สุดของไทย ต้องมีชื่อ “ดร.โกร่ง” วีระพงษ์ รามางกูร ติดโผอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ความเก่งนั้นอยู่ในระดับ “กูรู” ที่รอบรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง ประวัติศาสตร์ และสามารถนำศาสตร์เหล่านี้มาเชื่อมร้อยกันได้อย่างกลมกลืน
ความเก่งกาจเรื่องการเรียน จะเห็นได้จากเมื่อจบคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมเหรียญทองคนแรกของคณะ กลับโดดไปเรียนข้ามศาสตร์ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์สาขาเศรษฐมิติ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
“ดร.โกร่ง” เป็นศิษย์เอกของศาสตราจารย์ “Lawrence Kline” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จึงมีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างลุ่มลึก และจบเศรษฐมิติที่เป็นศาสตร์ขั้นสูงในวิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้มองภาพใหญ่และภาพย่อย เชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว
คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ “ดร.โกร่ง” เคยร่วมคณะรัฐมนตรีได้พูดถึงว่า “ผมรู้จักโกร่งในฐานะส่วนตัวมาค่อนข้างนานพอสมควร ก็มีความประทับใจในเรื่องความรู้ ความสามารถ ความชัดเจนในวิชาการ แล้วก็เป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติเป็นอย่างดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในรัฐบาลใด เขาก็อุทิศเวลา อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้กับงานที่เป็นผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม ผมทึ่งในความรอบรู้ของโกร่ง ในวิชาการอื่นด้วยเขาเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น เค้ารู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ศาสนา อีกเรื่องคือเค้าเป็นคนความจำดีมากเหลือเกิน จำแม่น”
อีกเรื่องที่ “ดร.โกร่ง” เป็นที่กล่าวขานคือ ความสามารถอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ ชาวบ้านฟังเข้าใจได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประกอบกับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ลุ่มลึก ทำให้ “ดร.โกร่ง” มีโอกาสมารับใช้บ้านเมืองในงานการเมือง ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, รัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ, รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน, รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมแล้ว 7 รัฐบาล ทั้งในฐานะที่ปรึกษา รัฐมนตรีช่วยคลัง และรัฐมนตรีคลัง
ว่ากันว่า เมื่อคราวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจค่อนข้างมาก นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลความคิดในเรื่องเศรษฐกิจต่อพล.อ.เปรมแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดในขณะนั้นเลยทีเดียว
“ดร.โกร่ง” คือผู้อยู่เบื้องหลังการ “ลดค่าเงินบาท” ในสมัยพล.อ.เปรม ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ค่าเงินบาทตอนนั้น 23 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมี “มูลค่าแข็งเกินจริง” ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ ขายไม่ได้ เพราะราคาแพงกว่าคู่แข่ง หลังจากรัฐบาลตัดสินใจลดค่าเงิน จาก 23 บาทต่อดอลลาร์เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ เศรษฐกิจไทยที่ซบเซาก็ฟื้นตัว สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก “ดร.โกร่ง” ที่ทำหน้าที่อธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องลดค่าเงินบาทให้ “พล.อ.เปรม” ฟัง จนยอมรับและตัดสินใจประกาศลดค่าเงินตามคำแนะนำ
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เปรม รัฐบาลได้ลงทุนโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา
โครงการอีเทิร์นซีบอร์ดช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทย จากประเทศเกษตรกรรมและกึ่งอุตสาหกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัว เศรษฐกิจไทยยุคนั้นเรียกว่า “ยุคโชติช่วงชัชวาล” มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมที่ทันสมัยผุดขึ้นมากมาย อย่างโครงการปิโตรเคมี อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น มีสภาพัฒน์ฯเป็นเจ้าภาพและ “ดร.โกร่ง” อยู่เบื้องหลังคอยช่วยผลักดัน
ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ราวๆปี 39-ปี 40 “ดร.โกร่ง” ก็เป็นคนแรกที่ส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลพล.อ.ชวลิตประกาศลดค่าเงินบาท เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณไม่สู้ดีนัก แบงก์ชาติ นักเศรษฐศาสตร์และนายแบงก์ส่วนใหญ่พากันรุมค้านความคิดนี้ ตอนนั้นพล.อ.เปรมกระซิบพล.อ.ชวลิต ให้ฟังคำแนะนำของ “ดร.โกร่ง” แต่รัฐบาลพล.อ.ชวลิตกลับเลือกฟังคนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท
ต่อมาค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก กระทั่งไหลรูดอ่อนค่าจาก 30 กว่าบาท เป็น 52 บาท ธุรกิจเอกชนส่วนใหญ่ที่เชื่อรัฐบาล ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงเอาไว้ ต้องแบกหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จนนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง สุดท้ายประทศไทยต้องเข้าโครงการเงินกู้ IMF จำใจยอมรับเงื่อนไขสุดโหด ซึ่ง “ดร.โกร่ง” เอง ก็ออกมาคัดค้านการเดินตามก้น IMF อย่างถึงพริกถึงขิง จนรัฐบาลยุคนั้นมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม
ย้อนกลับมาในสมัยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลพล.อ.เปรม “ดร.โกร่ง” เป็นหัวหอกคัดค้านกระทรวงพาณิชย์ ที่มีนโยบายเก็บ “ค่าพรีเมี่ยมข้าว” จากพ่อค้าส่งออกข้าว เพราะเห็นว่าในที่สุดภาระนี้ ก็จะตกอยู่กับชาวนาคนยากคนจน ในที่สุดนโยบายนี้ถูกยกเลิก ที่สำคัญ “ดร.โกร่ง” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันนโยบายกระจายรายได้สู่ชนบท เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นแผนของสภาพัฒน์ฯ จนสามารถยกระดับเป็นนโยบายแห่งชาติสำเร็จ
เมื่อดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯยิ่งลักษณ์ ก็คัดค้าน “นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด” อย่างเอาจริงเอาจัง “ดร.โกร่ง” เตือนว่า หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดการ “คอรัปชั่น” อย่างใหญ่หลวง จนอาจจะทำให้รัฐบาลพังได้ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจเดินหน้าต่อ ไม่ฟังเสียงทักท้วง ในที่สุดก็พังจริงๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดนั่นเอง
แม้ 10 ปีหลัง จะถอยห่างจากงานการเมือง มาทำหน้าที่คนส่งสัญญาณเตือน ผ่านการเขียนบทความและสัมภาษณ์สื่อต่างๆ อย่างแหลมคม จนรัฐบาลบางยุคบางสมัยจัดให้ “ดร.โกร่ง” เป็นฝ่ายตรงข้าม หลายๆ ครั้งถูกตอบโต้จากคนในรัฐบาลนั้นๆ และกองเชียร์อย่างรุนแรง แต่ “ดร.โกร่ง” ไม่เคยออกมาตอบโต้สักครั้งเดียว ยังยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงเช่นเดิม
บทบาทผลงานของ “ดร.โกร่ง” ที่อยู่ในองคาพยพถึง 7 รัฐบาล รวมถึงบทบาทในฐานะนักวิชาการ มีมากมายเกินกว่าจะพรรณาได้หมด นับจากนี้คงเป็นเพียงตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
…………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”