วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS2565 ต้องไม่ซ้ำรอย 2564
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

2565 ต้องไม่ซ้ำรอย 2564

ในห้วงเวลา 2 ปีเต็มๆ ที่โลกของเรา รวมทั้งประเทศไทยต้อง “ติดกับดักโควิด-19” ยังหาทางออกไม่เจอ แถมไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังมีสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ออกอาละวาด ตอนนี้ลุ้นว่าจะมีพิษสงมากน้อยเพียงใด

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2563 ที่โควิด-19 แพร่ระบาดใหม่ๆ ทุกประเทศทั่วโลกต้องทุ่มเทสรรพกำลัง ทั้งสมอง งบประมาณและบุคลากรด้านสาธารณสุข มาสู้กับโควิด แต่ยังเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถือว่าเป็นปีที่ “สูญเปล่า” อีกปี

กระทั่งในปี 2564 หลายๆ ประเทศเริ่มเห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง แม้จะยังไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว แต่น่าเสียดายประเทศไทยที่ยัง “ไม่พ้นปากเหว” นอกจากมัวเสียเวลากับการแก้ปัญหาโควิดแล้ว เรายังมีปัญหา “ความขัดแย้ง” ภายในทับซ้อน จึงเป็นปีที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติในทุกมิติ ทั้งความขัดแย้งกันเอง ทั้งการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในระลอก 2 เมื่อต้นปี จนต้อง “ล็อคดาวน์” อีกครั้ง ทั้งที่ในปี 2563 ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก ว่าแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดี สะท้อนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยมาก มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็น 0 หลายเดือนติดต่อกัน แต่เป็นแค่ “ภาพลวงตา” เพราะเรามีการสุ่มตรวจหาเชื้อน้อย จึงพบมีผู้ป่วยน้อย

ด้วยความที่ 2563 ทั้งปี พบตัวเลขผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อน้อย ทำให้ชะล่าใจ เมื่อตัวเลขพุ่งพรวดพราดในการระบาดระลอก 2 จึงเกิดปัญหา “การบริหารจัดการ” ในรัฐบาล ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้การจัดหาวัคซีนที่ไม่ทันสถานการณ์ ต้องแก้ปัญหาด้วยการ “ล็อคดาวน์” แต่กลับส่งผลข้างเคียง สร้างความเสียหายมากมาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ไม่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างธุรกิจโรงแรม บริษัททัวร์ 

ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ คนต้องตกงาน ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ ก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย รัฐก็ต้องออกมาตรการเยียวยา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่จบไม่สิ้น เงินงบประมาณไม่พอ ก็ต้องกู้มาเยียวยาชาวบ้านและพื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจประเภท SME 

แต่มาตรการต่างๆ สารพัดที่รัฐบาลงัดมาใช้ ก็เป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการระยะยาว จึงไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ขณะที่ในหลายประเทศอัดเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้า เมื่อหลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัว ขยายผลถึงเศรษฐกิจโลกดีขึ้น การบริโภคพุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีความต้องการสินค้า ประเภท น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้นด้วย

ปัญหาที่ตามมาคือ ราคาน้ำมันสูงขึ้น และเงินเฟ้อมาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวต้องชะงักงัน ส่งผลเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต แค่ 0.7-1% ต่อจีดีพี. ปี 2564 จึงเป็นปีที่เศรษฐกิจไทย “ถูกบอนไซ” อย่างแท้จริง

ช่วงที่โควิด-19 ระบาดทำให้ช่องว่างระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” ของไทย กลับถ่างกว้างมากขึ้น กลายเป็น “ปัญหาสังคม” อีกทั้งคนในสังคมก็ขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง ระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” ย้ำแผลเก่าระหว่าง “คนในเมือง” กับ “คนรากหญ้า” หรือ “คนเสื้อเหลือง” กับ “คนเสื้อแดง” แต่ความแตกแยก “ระหว่างรุ่น” ลึกซึ้งเกินกว่าที่ประสานกันได้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน

ขณะที่ “นักการเมือง” ยังเล่นพรรคเล่นพวก “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ลึกๆ ขัดแข้งขัดขากันตลอด ทำให้การทำงานไม่คล่องตัว สะท้อนจากปัญหาการบริหารจัดการเรื่อง “วัคซีน” แม้กระทั่งพรรคที่เป็นแกนนำหนุนหลัง “ลุงตู่” ก็ขัดแย้งกันเอง จนต้องสั่งปลดรัฐมนตรีกลางอากาศ ในสภาฯขัดแย้งกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล ฝ่ายค้านกับฝ่ายค้านกันเอง ทำให้การประชุมสภาฯล่มหลายครั้ง  

ในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงสัดส่วนการเข้าถึงวัคซีนมีมากขึ้น ซึ่งในกรณีของไทย การเข้าถึงวัคซีนเข็มที่ 2 น่าจะเฉียดร้อยละ 90 จากเป้าหมาย 50 ล้านคนแม้ “โอมิครอน” แพร่ระบาด คงไม่ก็ต้องกลับมาล็อคดาวน์ประเทศอีก

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในปี 2565 ซ้ำรอยปี 2564 ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล ต้องเลิกเล่นการเมืองในพรรคร่วม เศรษฐกิจก็ควรจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะยาว มากกว่าการอัดเงินเยียวยาแบบ “ประชานิยม” รัฐบาลในฐานะผู้ปกครองคนทั้งประเทศ ต้องทำตัวเป็น “พ่อบ้าน” ที่ดี ต้องดูแลทุกข์สุของลูกบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียง หรือทำตัวลงมาเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นต่างหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนนักการเมืองก็ได้แต่หวังว่าในปี 2565 จะเข้าใจบทบาทของตัวเองและมีสำนึกเพื่อบ้านเมือง มากกว่าพรรคพวกเช่นที่ผ่านมา

ปี 2564 เป็นปีที่ล้มเหลวที่สุดอีกปีหนึ่งก็ได้ แต่หวังผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อบ้านเมืองทั้งหลาย จะได้สรุปบทเรียนไม่ให้ปี 2565 ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเดิม

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img