ราคาเนื้อหมูไทยกลายเป็น “ทอล์กอ๊อฟเดอะทาวน์” สร้างประวัติศาสตร์ แพงสูงสุดในรอบ 10 ปี เมื่อราคาหมูหน้าเขียงล่าสุด พุ่งทะยานกว่า 200บาท/กิโลกรัม บางเขียงขายกันสูงถึง 230 บาท/กิโลกรัม
ยิ่งในช่วงตรุษจีน ราคาอาจจะพุ่งสูงถึง 300 บาท/กิโลกรัม นั่นเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเลยทีเดียว และอาจจะพุ่งไม่หยุด หากรัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างทุกวันนี้
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ราคาหมูแพงมีหลายๆ ปัจจัยดังนี้คือ ปัจจัยแรก “ต้นทุนการเลี้ยงสูง” โดยเฉลี่ยราวๆ 30% เนื่องมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ผลิต “อาหารสัตว์” ปรับตัวสูงขึ้นทุกตัว รวมถึงวัคซีน ยาที่ใช้รักษาก็ปรับขึ้น อีกทั้งฟาร์มต่างๆ ต้องลงทุนด้าน “ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” มีการประเมินว่า ตกตัวละ 300-400 บาทตเลยทีเดียว ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
ปัจจัยที่สอง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ปลายปีที่แล้วเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มีการปลดล็อคดาวน์และเปิดประเทศ คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันคึกคักขึ้น หลังจากซบเซามานาน ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 กลับมาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับปริมาณหมูขุนที่เข้าสู่ตลาดลดลงจากปกติกว่า 30% ราคาจึงขยับสูงขึ้นทันที ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดตามหลัก “ดีมานด์-ซับพลาย” อย่างแท้จริง
ปัจจัยสุดท้าย ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากเกิด “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African Swine Fever : ASF) ระบาดในฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ระดับรุนแรง ทำให้หมูขุนและแม่พันธุ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางๆ ที่เลี้ยงแบบโรงเปิด การบริหารจัดการอาจจะยังไม่ดีพอ ต้องฆ่าทำลายหมูทิ้ง 40-50% บางฟาร์มต้องฆ่าทำลายทิ้งหมดทั้งฟาร์ม เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และไม่มีทุนมาเลี้ยงใหม่และกลัวว่า เลี้ยงแล้วหมูจะตายอีก ยอมปล่อยให้ฟาร์มร้าง ยิ่งทำให้ปริมาณหมูในตลาดน้อยลงไปอีก
ความจริง “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ที่ระบาดมานานเป็นปี แต่ “กรมปศุสัตว์” กลับไม่ยอมรับว่ามีโรคนี้ ระบาดในฟาร์มหมูจริง ทั้งที่เกษตรกรต่างพากันยืนยันและมีการตรวจพิสูจน์มาแล้ว กลับตะแบงว่าหมูป่วยเป็นโรคเพิร์ส (โรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของสุกร) ซึ่งร้ายแรงน้อยกว่า
เข้าใจว่า สาเหตุที่กรมปศุสัตว์ต้องปากแข็ง เพราะหากยอมรับความจริง รัฐบาลจะต้อง “จ่ายชดเชย” ให้กับผู้เลี้ยง เป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจจะไม่มีเงินมาจ่ายชดเชย หรือที่ต้องปิดข่าวไม่ให้สาธารณชนรับรู้ เพราะไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เกรงจะกระทบผู้เลี้ยงหรือผู้ส่งออกรายใหญ่ไม่สามารถส่งออกได้ คล้ายกับกรณีไข้หวัดนกระบาดในฟาร์มไก่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่มีการปิดข่าวทำให้ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยและรายกลางต้องเจ๊งระเนนระนาด
การปกปิดข่าวของกรมปศุสัตว์ไม่เพียงแค่ “หมูขาดตลาด” จนทำให้ “หมูราคาแพง” ขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบกับ “โครงสร้างธุรกิจหมู” เนื่องมาจากการระบาดครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฟาร์มหมูรายย่อยแต่ละฟาร์มตายไม่ต่ำกว่า 50% บางฟาร์มตายหมด ฟาร์มหมูหายไปจากวงจรมากถึง 70% ทั้งหมดเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย ด้านผู้บริโภคก็คงต้องกินหมูแพงอีกนาน เพราะวงจรการเลี้ยงหมูต้องใช้เวลานาน 6-12 เดือน คาดว่ากว่าการผลิตหมูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจริงๆ ต้องรอถึง 2 ปี นั่นแปลว่า คนไทยจะต้องกินหมูแพงอย่างนี้ต่อไปอีกนาน
ที่สำคัญยังกระทบเป็นลูกโซ่ถึง “เขียงหมู” ที่ขายในตลาดทั่วไป เมื่อหมูราคาแพงจนไม่คุ้ม ก็ต้องเลิกราไป อีกทั้งบรรดาฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีระบบการบริหารที่ดีสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำและความสูญเสียจากหมูตาย 30% เท่านั้น ยังมีหมูเป็นเหลืออีก 70% ที่จะ “ดั๊มพ์ราคา” ลงมาเขย่าเขียงหมู ในที่สุดก็จะเหลือแต่หมูชำแหละจากฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ขายในโมเดิร์นเทรดและแผงของตัวเอง
ฟันธงว่า งานนี้ “ผู้เลี้ยงรายใหญ่” ได้ไปเต็มๆ เพราะมีความได้เปรียบในเรื่องสายป่านที่ยาวกว่าและการบริหารจัดการฟาร์ม บริหารต้นทุนได้ดีกว่า ฟาร์มรายเล็กๆ และฟาร์มขนาดกลาง
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น “กรมปศุสัตว์” ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรงต้องรับผิดชอบอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ส่วนในทางการเมืองคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลอุตสาหกรรมหมูครบทั้งวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของ “พรรคประชาธิปัตย์” ต้องรับไปเต็มๆ แม้จะอ้างว่ากรมปศุสัตว์อยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีช่วยฯที่อยู่ต่างพรรคก็ตาม แต่รัฐมนตรีว่าการฯมาจากพรรคประชาธิปัตย์
น่าเสียดายขณะที่ราคาหมูในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ขายตลอดจนผู้บริโภค แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับอานิสงส์จากราคาหมูที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดงานนี้เข้าทางผู้เลี้ยงรายใหญ่รวยกันพุงปลิ้นตามเคย
…………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving