วิกฤต “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (ASF) ครั้งนี้ มีหมูจากฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศล้มหายตายจากจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ คาดว่าไม่น้อยกว่า 700,000 ตัว มูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นับว่าเป็นอีกวิกฤติหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ของรัฐบาล จนสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเที่ยวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด รวมถึงการแก้ปัญหาและ “การปกปิดข้อมูล” ของ “รัฐบาล” และ “หน่วยงานราชการไทย” ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “กรมปศุสัตว์” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน
กรณีที่เป็นดัชนีชี้วัดความล้มเหลวและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและระบบราชการไทยได้ดีที่สุด คือกรณีโรคไข้หวัดนกระบาดในฟาร์มไก่ เมื่อเกือบๆ 20 ปีที่แล้ว
บทเรียนนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วราวๆ ปี 2546-2549 ตอนนั้นประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดนก” ถึง 3 ระลอกใหญ่ๆ ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ โดยเฉพาะฟาร์มขนาดกลางและฟาร์มรายย่อย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ได้มีการประเมินความสูญเสียด้านการส่งออกสัตว์ปีกมากกว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงมีการทำลายไก่ไปมากกว่า 60 ล้านตัว มีคนต้องตกงานนับแสนคน
การแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยในกรณีไข้หวัดนกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็คล้ายๆ กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กำลังระบาดในปัจจุบัน
กล่าวคือ ทั้ง “ไร้ประสิทธิภาพ” และมีการ “การปกปิดข้อมูล” ทั้งที่โรคไข้หวัดนกเริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2546 และพบว่ามีไก่และสัตว์ปีกล้มตายเป็นจำนวนมาก จนเป็นข่าวใหญ่โต แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรฯสมัยนั้น รวมถึงกรมปศุสัตว์ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่ไข้หวัดนก กลับบอกว่าไก่และสัตว์ปีกที่ล้มตาย เพราะเป็น “อหิวาตกโรค” หรือ “เป็นโรคหลอดลมอักเสบ” ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า
จากการปกปิดข้อมูลเหล่านี้นี่เอง ทำให้โรคไข้หวัดนกแพร่ระบาดลุกลามใหญ่โต จนผู้เลี้ยงได้รับความเสียหายอย่างหนัก กระทั่งต่อมามีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด พากันออกมายืนยันหนักแน่น รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ช่วยกันนำเสนอข่าวกันครึกโครม และช่วยกันเปิดโปงพฤติกรรมของรัฐบาล-นักการเมือง และข้าราชการที่ปกปิดข้อมูล อีกทั้งการแก้ปัญหา รัฐบาลขณะนั้นก็เน้น “สร้างภาพทางการเมือง” เช่นการจัดงานกินไก่โชว์ที่ทำเนียบรัฐบาลและท้องสนามหลวง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ชาวบ้านกล้ากินไก่ แต่ไม่ได้มีมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ตัดกลับเข้ามาในกรณีหมูป่วยด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ก็คล้ายกันเหมือนหนังม้วนเก่า ที่เคยฉายเรื่อง “ไข้หวัดนก” เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทั้งที่ข้อมูลชี้ว่า โรคนี้เข้ามาระบาดในไทยตั้งแต่ 2562 และได้แพร่กระจายไปจังหวัดต่างๆ แต่ทางกรมปศุสัตว์ก็ปฏิเสธข่าวมาตลอด เพิ่งจะแถลงข่าวยอมรับความจริงเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง “คนในรัฐบาล” เอง ก็ไม่มีใครออกมาพูดอะไร ปล่อยให้มีการปกปิดเรื่องนี้มานานถึง 2 ปี
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่ง เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “คนเลี้ยงหมูเขารู้เรื่องนี้กันทั่ว แต่ก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะว่า ต้องการขนย้ายหมูที่ยังไม่เป็นโรคออกจากฟาร์ม เพื่อลดความสูญเสีย ซึ่งในการขนย้าย ต้องมีใบอนุญาต แต่อำนาจออกใบอนุญาตขนย้าย ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ฉะนั้นหากใครไม่ปกปิดเรื่องหมูป่วย ก็จะไม่ได้รับอนุญาต”
กระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว “บิ๊กตู่” ได้เรียก “น.สพ.สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล ต่อมา น.สพ.สรวิศ ออกมาเปิดเผยว่า “นายกฯพล.อ.ประยุทธ์รับทราบมาตลอด ว่ากรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย ได้ทำอะไรมาบ้างตลอด 3 ปีที่ผ่านมา”
พร้อมทั้งย้ำว่า นายกฯเข้าใจ เพราะได้รายงานการทำงานให้นายกฯทราบมาตลอดตั้งแต่ปี 2561 ที่เกิดโรคระบาดในจีน 6 เดือน จีนฆ่าหมูไป 500 ล้านตัว และวันที่ 9 เมษายน 2562 รัฐบาลได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิดจะไม่สามารถส่งหมูไปต่างประเทศได้ ส่วนเงินที่ขอจากคณะรัฐมนตรี 574 ล้านบาท เป็นเงินที่ใช้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด
โอละพ่อ สรุปว่า นายกฯรู้เรื่องมาตลอด 3 ปี ที่เกิดโรคระบาด แต่ไม่บอกความจริงกับประชาชน
ถามว่า ทำไมรัฐบาลและข้าราชการต้องปกปิด ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับกรณีไข้หวัดนก นั่นคือ ต้องการ “ปกป้องการส่งออก” ทั้งที่การส่งออกหมูนั้น มีมูลค่าน้อยกว่าการบริโภคในประเทศ และความเสียหายของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย แต่การปกปิดข้อมูล ทำให้ฟาร์มขนาดกลางและผู้เลี้ยงรายย่อย ต้องล้มหายตายจาก ต้องออกจากวงจรธุรกิจนี้กว่าแสนราย เพียงแค่ต้องการเอาใจ “กลุ่มทุนใหญ่” เท่านั้น
ที่สำคัญรัฐบาลปล่อยให้มีการนำหมูป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟฟริกาในสุกร ออกมาขายให้ประชาชนซื้อมาบริโภคได้อย่างไร ทำไมไม่รีบแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หรือว่าทุกว่าไม่มีน้ำยาจึงได้แต่นั่งมองดูวิกฤติ ตาปริบๆ
…………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving