วันพุธ, เมษายน 2, 2025
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“น้ำมัน-การเมือง”และวงจรอุบาทว์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“น้ำมัน-การเมือง”และวงจรอุบาทว์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นครั้งใหม่ พุ่งทะยานอยู่ในระดับ “นิวไฮ” ในรอบ 8 ปี โดยมีราคาสูงถึง 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนด์ ในปีนี้อาจพุ่งไปถึง 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล…เลยทีเดียว

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง นอกจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หลังจากเริ่มเปิดประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญจริงๆ น่าจะมีจากปัญหา “การเมืองระหว่างประเทศ” อันเป็นความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” และกับ “อิหร่าน” ที่ทำให้อิหร่านมีปัญหาการส่งออกน้ำมัน

นั่นแปลว่า ถ้าปัญหาของยูเครนยังลุกลามบานปลาย จะส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของปริมาณการผลิตโลก

ปัญหาน้ำมันกับการเมือง จึงเป็นเรื่องที่แยกไม่ออก ในอดีตบ้านเรา “น้ำมัน” ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด รัฐบาลในยุคนั้น มักจะต้องตรึงราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า ส่งผลข้าวของราคาแพง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจะเสียคะแนนนิยมได้ ราคาน้ำมันเพิ่งจะมีการปล่อยลอยตัวเสรี เมื่อสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ต้องมีอันเป็นไปทางการเมือง จนต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะราคาน้ำมันพ่นพิษก็มี ต้องย้อนไปเหตุการณ์น้ำมันราคาแพงในช่วง พ.ศ.2523 ในยุค “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ผลักภาระทั้งหมดไปให้ประชาชน ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงหูฉี่

จนในที่สุด “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ต้องประกาศลาออกกลางสภา เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เหตุการณ์นี้ ได้กลายเป็นตำนานว่าด้วยเรื่อง “การเมือง” กับ “ราคาน้ำมัน” ตั้งแต่นั้นมา

เหตุที่น้ำมันต้องกลายเป็นสินค้าการเมือง เพราะเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า การขนส่ง จนถึงภาคการเกษตร เป็นต้น การที่รัฐบาลในอดีตใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงส่งผลให้โครงสร้างราคาน้ำมันบ้านเรา สลับซับซ้อนจนยากที่จะแก้เงื่อนปมนี้ได้

ในที่สุดก็กลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ของราคาน้ำมันของไทย เพราะ “โครงสร้างราคาบิดเบี้ยว” ตั้งแต่เรื่องเก็บเงินคนใช้เบนซินส่ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เพื่อจะตรึงราคาน้ำมันดีเซล-แก๊สหุงต้ม ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผลิตวัตถุดิบ ผลิตสินค้า เป็นต้นทุนการขนส่ง เป็นต้นทุนของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

จะว่าไปแล้ว “วงจรอุบาทว์” นี้เริ่มตั้งแต่เรื่องของวิธี “คิดต้นทุนแฝง” ที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในไทย แต่ต้องอิงราคาสิงคโปร์ ทำให้มีการบวกค่าขนส่ง ค่าประกันและอื่นๆ กลายเป็น “ต้นทุนแฝง” ไม่ใช่ “ต้นทุนจริง” แต่ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่าย

ขณะเดียวกัน การดึงพืชเกษตรมาใช้เป็นพลังงาน อย่างการนำ “ปาล์ม” มาผสมร่วมกับน้ำมันดีเซล ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันถูกลง และแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในที่สุดก็ขัดกันเองระหว่าง “อุตสาหกรรมอาหาร” กับ “อุตสาหกรรมพลังงาน” กลายเป็นความซับซ้อนขึ้นมาอีกชั้น

ขณะที่กองทุนด้านพลังงาน ที่มี 2 กองทุนคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน

กองทุนแรกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกันชน เวลาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศแพงตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงกลายเป็นการนำเงินคนที่ใช้น้ำมันเบนซิน ไปช่วยเหลือคนใช้น้ำมันดีเซล และแก๊ส ยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อน

ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ปัจจุบันเก็บ 5 สตางค์ต่อลิตร กองทุนนี้มีเงินสะสมนับหมื่นล้านบาท เพื่อรณรงค์และอุดหนุนการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้า ว่ากันว่ากองทุนนี้เป็น “ขุมทอง” ของนักการเมืองและพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์ ในรูปแบบโครงการต่างๆ และบริษัทด้านพลังงานบางราย ก็รวยอู้ฟู่จากกองทุนนี้

ทางออกจากวิกฤตน้ำมัน คงไม่ใช่แก้ปัญหาราคาแค่ระยะสั้นๆ แบบลูบหน้าปะจมูก แต่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง และต้อง “ทะลายวงจรอุบาทว์” ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำซากอย่างทุกวันนี้

cr : สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม ในระยะเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันสูงจนประชาชนเดือดร้อนและรับไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วย โดยลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3-5 บาท ปัจจุบันต้องเสียภาษีลิตรละ 5.99 บาทเสีย VAT อีก 7% เป็นลิตรละ 6.41 บาท นับเป็นภาระอย่างมาก

การลดภาษีน้ำมันดีเซลทำได้ง่ายและเร็วกว่า การให้กองทุนน้ำมันกู้เงินมาโป๊ะ ซึ่งไม่ทันการณ์ และทำได้แค่ช่วงสั้นๆ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งไม่หยุด ใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้ม กลายเป็นว่า “ถมไม่รู้จักเต็ม” ต้องกู้เพิ่มอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งเมื่อดูตัวเลขพบว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อนุมัติเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไปแล้ว 3.79 บาทต่อลิตร อุ้มค่าการตลาดให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ใน 1 เดือน ต้องควักเงินอุดหนุน 7,031 ล้านบาท

ถ้าไม่มีการอุดหนุน เท่ากับว่าราคาน้ำมันดีเซลปกติ จะอยู่ที่ราว 34 บาท/ลิตร ถ้าทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกให้ตรึงราคา 25 บาท/ลิตร ใน 1 เดือน ต้องควักเงินอุดหนุนเกือบ 17,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าที่จะแบกรับไหว

ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากภาษีเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ทำให้ราคาน้ำมันแพง ถ้าลดลงมาบ้าง หรือระงับการเก็บชั่วคราว ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋าประชาชนได้

น้ำมันราคาแพงเป็นปัญหาใหญ่และสลับซับซ้อน ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะลงเอยอย่างไร รู้แต่ว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น น้ำมันยังราคาแพง ส่งผลราคาสินค้าแพงตาม มีปัญหาเงินเฟ้อตามมา

อย่างไรก็ตาม การลดภาษีเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ปัญหาอย่างถาวรจะต้องรื้อ โครงสร้างและต้องไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ มิเช่นนั้นประวัติศาสตร์การเมืองอาจจะซ้ำรอยเดิมได้

………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img