วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ดับฝันไทยฟื้น“ท่องเที่ยว-ส่งออก”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ดับฝันไทยฟื้น“ท่องเที่ยว-ส่งออก”

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สอนให้โลกรู้ว่า เมื่อใดที่เกิดสงคราม ย่อมเกิดผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง เฉพาะอย่างยิ่ง ทางเศรษฐกิจ ทั้งระดับโลก รวมถึงไทย

จะเห็นได้จากทันทีมีข่าวรัสเซียส่งทหารเข้าสู่ภูมิภาคดอนบาส ตลาดหุ้นทั่วโลกตกไปตามๆ กัน แม้แต่ตลาดหุ้นรัสเซียเองราคาตกลง 15.6% หรือ 540 จุด ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลง 5% ระหว่างวันแตะระดับ 80 รูเบิล/ดอลลาร์ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับลด 18.88 % ดัชนีอยู่ที่ 1,694.32 จุด

สำหรับรัสเซียนั้น ถือเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ขนาดใหญ่

ขณะที่ยูเครนก็มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกรายต้นๆ ของโลก

นั่นหมายความว่า หากสองประเทศนี้วิกฤตเมื่อไหร่ ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานพุ่งสูงขึ้น ราคาที่ปรับสูงขึ้น ก็จะไปกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาอาหารทั่วโลก ให้สูงขึ้นตามไปด้วย

หากสงครามยืดเยื้อออกไป “เงินเฟ้อ” จากราคาพลังงานพุ่ง ย่อมฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อของโลกชะลอตัวลง หรืออาจจะถึงขั้นดิ่งเหวเลยก็เป็นได้ ขึ้นอยู่ว่าจะยืดเยื้อนานแค่ไหน เท่ากับไปซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งที่หลายๆ ประเทศเพิ่งจะเริ่มฟื้นจากไข้ กลับต้องมาเจอวิกฤตจากสงครามครั้งนี้กระแทกซ้ำและไม่รู้ว่า จะขยายวงออกไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

กล่าวสำหรับประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นต้องโดนผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางอ้อม จากกรณี “ราคาน้ำมัน-ราคาก๊าซ” ที่ปรับขึ้นตามสถานการณ์ของโลก ในที่ประชุมของสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ได้ประเมินสถานการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะไต่ระดับเกิน 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจจะถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล

สอดคล้องกับ “เจพี มอร์แกน” ที่ประเมินว่าหากเกิดเหตุปะทะรุนแรง ราคาน้ำมันอาจแตะระดับสูงสุดที่ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแน่นอน จะมีผลทำให้เงินเฟ้อของไทย อาจจะปรับตัวไปถึง 3-4% ต่อปี

ส่วนผลกระทบแบบตรงๆ หนีไม่พ้น “ธุรกิจท่องเที่ยวและส่งออก” โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว นักธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยอมรับว่า วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยแบบเต็มๆ ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรัสเซีย ถือเป็นตลาดใหญ่ โดยในปี 2561-2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียราวปีละ 1.4 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 100,000 ล้านบาทต่อปี

หากสงครามระหว่างสองประเทศบานปลาย ย่อมส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาเที่ยวในไทยลดลงแน่นอน เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการออกเดินทางท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย ไทยก็น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่คนรัสเซียให้ความนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

มิหนำซ้ำ หากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวจากพิษสงคราม ก็อาจเห็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มยุโรปมาไทยลดลงเช่นกัน นักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซีย ถือเป็นตลาดสำคัญของไทยในขณะนี้ เรียกว่างานนี้ดับฝันนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อหารายได้เข้าประเทศจากการธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะที่ การส่งออก ทั้งรัสเซียและยูเครนอาจจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ที่โดดเด่นของไทย โดยปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซีย มีมูลค่า 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.68% ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 1,752 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.8% ขณะที่ไทยส่งออกไปยูเครน 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 35.72% ส่วนไทยนำเข้าจากยูเครน 251.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.72%แต่ก็ถือว่าในระยะยาวมีอนาคต

แต่ที่น่าห่วงมากกว่าคือ ตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยไทยส่งสินค้าออกไปยุโรปเป็นอันดับ 4 ของตลาดส่งออกทั้งหมด หากเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน

คงต้องจับตาดูว่า สงครามครั้งนี้มีแนวโน้มรุนแรงหรือไม่ ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “สหรัฐฯ-อียู-อังกฤษ-แคนาดา” ทำให้วงการเงินทั่วโลก ต้องสั่นสะเทือน เมื่อประกาศ “คว่ำบาตรทางการเงิน” ขับธนาคารใหญ่รัสเซียออกจาก SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศความปลอดภัยสูง ที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง

มาตรการดังกล่าว ถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินล่าสุดและรุนแรงที่สุด เพื่อตอบโต้รัสเซีย และมีเป้าหมายเพื่อตัดธนาคารรัสเซียออกจากการเชื่อมต่อกับระบบการเงินโลก และทำลายความสามารถของรัสเซียในการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ

ความเสียหายของมาตรการนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และจะทำให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรงต่อการค้าและการธนาคารของรัสเซีย โดยบริษัทของรัสเซียจะเผชิญความลำบากอย่างมากในการทำธุรกิจ

ขณะที่ “อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศว่า สมาชิก EU ทั้ง 27 ชาติ จะร่วมกันอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย เพื่อจำกัดการเข้าถึงทุนสำรองของรัสเซียในต่างประเทศด้วย

มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน ไม่รู้ว่าจะกระทบถึงไทยหรือไม่ หากมีผลกระทบก็ถือว่าสั่นสะเทือนเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ต้องวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้วยความถูกต้องแม่นยำ จะได้เตรียมรับมือได้ทันท่วงที

…………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img