สืบเนื่องจากคำประกาศของรัฐบาลตั้งเป้าให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ด้วยการยกระดับ เป็น “วาระแห่งชาติ” หลังจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน
สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
แม้ว่าอัตราการเติบโตของเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนชะลอลง เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้นก็ตาม แต่ก็นับว่ายังน่าเป็นห่วง ยิ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2565 มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะขยับสูงขึ้นกว่า 90% ของจีดีพีค่อนข้างแน่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมารุนแรงอีกระลอก ส่งผลให้ความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง แม้จะระมัดระวังการก่อหนี้ก็ตาม
หากดูรายละเอียดพบว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 34%, สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 28% และมีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะมีเจ้าหนี้หลากหลาย ทั้งหนี้จากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีสัดส่วน 72% คิดเป็น 3 ใน 4 ส่วนที่เหลือ อยู่นอกการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ต้องเข้าใจว่า การแก้ปัญหานั้นไม่ง่าย เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง กลไกการปล่อยเงินกู้ก็มีความซับซ้อน หน่วยงานที่ดูแล ไม่ใช่แค่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เท่านั้น ยังมี “สินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์” ที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ยังมี หนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง, สินเชื่อสวัสดิการของข้าราชการ อยู่ใต้ร่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หน่วยงานที่กำกับดูแลเหล่านี้ จะมีวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาหนี้ที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งประเภทของหนี้ ก็ยิ่งมีความหลากหลาย มีผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ มากมาย เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้บ้าน หนี้ครู หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. เป็นต้น หนี้มีที่มาจากหลากหลายแหล่ง ทำให้ไม่มีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ
การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องเริ่มจากรัฐบาล จะต้องไม่ออกนโยบายที่ไปกระตุ้นให้คนก่อหนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นจากนโยบายลดแลกแจกแถมทั้งหลาย หรือนโยบายประชานิยมต่างๆ ล้วนแต่เร่งให้คนก่อหนี้ทั้งสิ้น และต้องทบทวนนโยบายหลายๆ อย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพดานอัตราดอกเบี้ย ที่เกี่ยวข้องกับหลายผลิตภัณฑ์ เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและไม่เป็นธรรม
เบื้องต้นรัฐบาลกางโรดแมปแก้หนี้ โดยเริ่มจากหนี้ข้าราชการ จะนำร่องแก้หนี้ครูและตำรวจอย่างจริงจัง
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครู ขณะนี้มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครูทั่วประเทศกว่า 200,000 คน สมัครเข้าร่วมโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน และปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ตำรวจ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 4,600 ราย (ข้อมูล ณ กันยายน 2564) ได้รับการแก้ปัญหาหนี้แล้ว 2,100 ราย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ช่วยเหลือสมาชิกในช่วงสถานการณ์โควิดในการพักชำระหนี้เงินต้น การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีภาระหนี้
หากการแก้ปัญหาหนี้ครูและตำรวจเป็นไปตามเป้าหมาย น่าจะเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาคประชาชนต่อไป แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดตอนนี้คือ ครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมาก มีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ปนกันจนมั่ว ซึ่งหนี้ทั้งสองระบบนี้มีอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก หากรัฐบาลแก้เฉพาะหนี้ในระบบ ยอดหนี้ก็ไปโป่งที่หนี้นอกระบบ ในที่สุดก็แก้ไม่สำเร็จกลายเป็นพายเรือในอ่าง
ไหนๆ จะชูนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนปี 2565 เป็นวาระชาติ ก็ขอให้เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่วาทะกรรมหรูๆ หวังผลทางการเมือง มิเช่นนั้นแล้ว หนี้ครัวเรือนจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่พร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา
………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving