วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เงินเฟ้อเจอเงินฝืด” ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินเฟ้อเจอเงินฝืด” ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

บาดแผลที่บอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ยังไม่ทันหาย เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสภาพเมาหมัดโงหัวไม่ขึ้น หลังจากปี 63 จีดีพี.ร่วงรูดมหาราชติดลบ 6.1% แม้ในปี 64 จะตีตื้นขึ้นมาเป็นบวก 1.6% แต่ก็ยังชดเชยกันไม่ได้ แต่กลับมีบาดแผลใหม่จาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม จนกำลังเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Stagflation ที่รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ

หากจะอรรถาธิบาย ปรากฏการณ์ Stagflation ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการนำเอาสองคำคือ Stagnation ที่แปลว่า การหยุดชะงักหรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง กับคำว่า Inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ หรือ ระดับราคาสินค้าแพงขึ้น มาผสมรวมกัน ถ้าจะแปลความง่ายๆ สั้นกระชับก็อาจจะกล่าวได้ว่า “เศรษฐกิจไทยตอนนี้ อยู่ในสภาพ “เงินเฟ้อกับเงินฝืด” มาบรรจบพบกันพอดี” หรืออาจจะบอกว่า “เงินเฟ้อเจอเงินฝืด” ก็ย่อมได้

ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตไทยเคยประสบภาวะ Stagflation มาแล้วในช่วงปี 2523 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น อัตราเงินเฟ้อไทยเคยขึ้นไปแตะระดับสูงถึงเกือบ 20% และเศรษฐกิจไทยก็ตกต่ำลงติดต่อกันนาน 5 ปีแม้ว่าครั้งนี้สัญญาณอาจจะยังดูเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสงครามรัสเซียกับยูเครน จะนานแค่ไหน จะบานปลายขยายวงกว้างกว่าเดิมหรือไม่

ทั้งนี้เนื่องจากหากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อออกไป เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับความเสี่ยงราคาพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ ที่จำเป็นพุ่งกระฉูด เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย และผลิตแก๊สธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตสำคัญของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถ่านหิน แพลทินัม ทองแดง แร่เหล็ก และยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญของข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี ยังมีแพลาเดียม วัตถุดิบในการผลิตชิปสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และไอที ส่วนยูเครนเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีและสินค้าเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญ และเป็นผู้ส่งออกรายต้นๆ ของโลก

นั่นหมายความว่า หากสองประเทศนี้วิกฤติเมื่อไหร่ ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานพุ่งสูงขึ้น อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ราคาที่ปรับสูงขึ้นก็จะไปกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาอาหารทั่วโลก ให้สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

เมื่อต้นทุนพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดิบ ราคาก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และวัตถุดิบต่างๆ พุ่งทะยานจากภาวะสงคราม และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย กลายเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งเงินเฟ้อของไทย รุนแรงขึ้นทันที

เงินเฟ้อ /ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนอัตรา “เงินเฟ้อ” ล่าสุดของไทยเดือน ก.พ. 2565 ขยายตัวถึง 5.28% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1-3% ปัจจัยหลักๆมาจาก “กลุ่มพลังงาน” ที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อถึง 62.26% และสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) กระทบต่อเงินเฟ้อ 35.05%

ปลายปีที่ผ่านมา สำนักวิจัยต่างๆ ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 โดยใช้ตัวเลขราคาน้ำมันอยู่ที่ราวๆ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดราคาน้ำมันดิบโลก (7 มีนาคม) เบรนต์พุ่งแตะ 128 เหรียญต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 13 ปี มีหลายๆ สำนักคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งไปถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็มีบางสำนักฟันธงว่า หากสงครามยืดเยื้ออาจจะแตะ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลพวงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น เงินในกระเป๋าที่มีอยู่เท่าเดิมลดลง ต้องไปลดรายจ่ายด้านอื่นๆ แทน

โดยปกติเงินเฟ้อมักจะเกิดในยามที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ธุรกิจจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อคนมีรายได้จากการทำงาน ความต้องการในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่เศรษฐกิจไทยเวลานี้ อยู่ในภาวะฟื้นตัวช้ามาก หรือยังซึมๆ อันเนื่องมาจากพิษโควิดระบาดมา 2 ปีเต็มๆ แต่กลับเริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อ โผล่เข้ามา

อันที่จริงทุกวันนี้ คนที่ต้องจับจ่ายใช้สอยทุกวันก็จะสัมผัสได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคข้าวยากน้ำมันแพง” อย่างแท้จริง จะเห็นได้จากราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมไปถึงของกินของใช้อื่น ๆ มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งผู้ผลิตได้ผลักภาระต่อถึงผู้บริโภคมีทั้งแอบปรับราคาขึ้น หรือราคาเดิมแต่ลดปริมาณลงด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์

ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทและราคาแก๊ส 318 บาทต่อถังได้นานแค่ไหน หากสงครามยังยืดเยื้อภายใน 1-2เดือน ราคาสินค้าต้องมีการปรับอย่างแน่นอน

การที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ นับว่าเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะประชาชนก็ต้องรัดเข็มขัดไม่อยากจับจ่ายใช้สอย ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ลดลง กำไรก็ลดลง เมื่อกำไรลดลง ธุรกิจอาจจะเจ๊ง หรือไม่มีการลงทุน ไม่ขยายกิจการ ไม่มีการจ้างงานเพิ่ม หรืออาจจะต้องลอยแพคนงานไปเลยก็มี ส่งผลให้คนไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำ ก็จะไม่มีเงินใช้จ่าย วัฎจักรก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้

ในภาวะ “เงินเฟ้อเจอเงินฝืด” อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างทุกวันนี้ จึงเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่รอวันระเบิดอย่างแท้จริง ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img