วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทุนนิยมพวกพ้อง..“หลุมดำ”เศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทุนนิยมพวกพ้อง..“หลุมดำ”เศรษฐกิจไทย

เมื่อราวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง “ดิ อีโคโนมีส” ได้เผยแพร่บทความพิเศษเรื่อง ‘The Parasite Economy’ ภาษาไทยอาจจะเรียกว่า “เศรษฐกิจปรสิต”

บทความดังกล่าวเปิดเผยถึงการจัดอันดับประเทศที่บรรดาอภิมหาเศรษฐีที่แสวงหาผลประโยชน์จากการมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้มากที่สุดในโลก โดยการเทียบสัดส่วนความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีกับ GDP ของประเทศนั้นๆ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

“ดิ อีโคโนมีส” ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลการจัดอันดับความมั่งคั่งคนรวยจาก นิตยสาร “ฟอบส์” ย้อนหลังในระยะเวลา 25 ปี และได้เปรียบเทียบอันดับของปี 2564 และปี 2559 ข้อมูลจาก “ฟอบส์” ระบุว่าในปี 2564 อภิมหาเศรษฐีจำนวน 2,755 คนมีความมั่งคั่งสุทธิรวมกัน 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 435.49 ล้านล้านบาท

นั่นเท่ากับว่า มูลค่าทรัพย์สินของอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ รวมกันมากกว่างบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยในปีที่แล้วที่มีงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท มากถึง 132 เท่า…เลยทีเดียว

ที่น่าสนใจ บทความนี้ได้เจาะข้อมูลลึกถึง “ระบบทุนพวกพ้อง” เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล โดยระบุว่า ธุรกิจที่เข้าข่ายได้แก่ การธนาคาร บ่อนคาสิโน การผลิตสินค้าจากการขุดหรือนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ และธุรกิจด้านการป้องกันประเทศ

จากการสำรวจปรากฏว่า ประเทศไทยอันดับพุ่งพรวด ‘ติดอันดับ 9’ ของดัชนีทุนพวกพ้องประจำปี 2564 โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 ยังอยู่ในอันดับที่ 12 สะท้อนว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังตกอยู่ในวังวนของทุนพวกพ้องซึ่งมีอำนาจมากในตลาดธุรกิจการค้าสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก มิหนำซ้ำสถานการณ์นอกจากไม่ดีขึ้นกลับเลวร้ายลงเรื่อยๆ

“ระบบเศรษฐกิจแบบปรสิต” หรือ “ทุนนิยมพวกพ้อง” คืออะไร ต้องบอกว่า คือ ‘กลุ่มทุนผูกขาด’ ที่มีธุรกิจในมือต่างๆ มากมายจนมีอำนาจเหนือตลาด อีกทั้งยังโยงใยกับเครือข่ายอำนาจทางการเมือง หรือระบบราชการอย่างแนบแน่น เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น จนเกาะกินเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ จนนำไปสู่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่ และที่สำคัญทุนนิยมผูกขาดยังปิดกั้นทางเลือกของผู้บริโภคอีกด้วย

สำหรับประทศไทยนั้น ทุนนิยมแบบพวกพ้องได้เริ่มมีพัฒนาการ ระหว่าง พ.ศ.2500-2516 อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ แม้จะมีบางช่วงบางตอนจะมีการเลือกตั้งบ้างก็ตาม จะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับการเมืองไทยในยุคนี้ ที่รัฐบาลทหารรัฐประหารมา หลังจากนั้นก็จัดให้มีการเลือกตั้ง มีนักการเมืองเป็นฐานสนับสนุนแสดงว่าการเมืองไทย 60 ปีที่แล้วกับรัฐบาลทุกวันนี้เหมือนๆ กัน คือ เป็นพรรคทหารปกครองประเทศ

ทุนนิยมพวกพ้องในยุคนั้นจึงเป็น “ทุนนิยมพวกพ้องโดยข้าราชการ” มีทั้งผู้นำกองทัพ นายตำรวจระดับสูง เข้าไปมีผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็น “ทุนนิยมพวกพ้องโดยนักการเมือง” ในการแสวงหาผลประโยชน์ ในยุคนักการเมืองบริหารประเทศ ก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมมาเป็นการใช้ข้อมูลของรัฐไปหาผลประโยชน์ และแก้ไขสัญญาธุรกิจสัมปทานของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

ปัจจุบันกลุ่มทุนผูกขาดได้พัฒนาขึ้นอีกขั้น โดยลงมาเล่นเอง ทั้งในรูปแบบเป็นตัวแทนครอบครัวมาเล่นการเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจคนในตระกูล กระทั่งยี่สิบกว่าปีหลังนี้ กลุ่มทุนผูกขาดใช้วิธีตั้งพรรคการเมืองเอง สามารถกำหนดนโยบายเอื้อธุรกิจของตระกูลและพวกพ้องได้ง่ายกว่า ซึ่งกลุ่มทุนกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มผูกขาดจากสัมปทานรัฐและทุนหากินกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

แต่ก็มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่บางกลุ่ม ไม่ยอมลงมาเล่นเองยังใช้ “ตัวแทน” ทั้งสนับสนุนทุนให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ทุกพรรค รวมถึงเลี้ยงดูข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของของตน โดยตอบแทนด้วยรายได้ที่เป็นรายเดือนและการผลักดันให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงๆ ดังนั้นเมื่อถึงฤดูโยกย้าย “ข้าราชการในกระทรวง” แทนที่ข้าราชการจะวิ่งเต้นนักการเมือง กลับไปวิ่งเต้นผ่านนักธุรกิจที่เป็นทุนใหญ่ให้พรรคการเมืองแทน

สังเกตง่ายๆ ข้าราชการคนไหนเป็นคนของกลุ่มทุนไหน จะเห็นได้จากหลังจากเกษียณอายุ ข้าราชราชการเหล่านั้นก็มักจะได้รับการแต่งตั้งไปเป็นกรรมการบริษัทในเครือ หรือที่ปรึกษาในกลุ่มธุรกิจของกลุ่มทุนนั้นๆ นอกจากนี้ข้าราชการบางคน ผู้บริหารระดับสูงบริษัทของรัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย ยังได้รับการสนับสนุนให้เข้ามานั่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนเข้ามาดูผลประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาดที่สนับสนุนตัวเอง

จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจเสียงท้วงติงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการเพื่อจะมีอำนาจเหนือตลาดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือโครงการขนาดใหญ่ได้ต่อสัมปทาน โดยไม่ต้องประมูลใหม่ กระทั่งกรณีหน่วยงานรัฐเข้าไปอุ้มบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้สัมปทานของรัฐ อ้างว่าได้รับผลกระทบจากโควิดก็ตาม

ปรากฏการเหล่านี้ สะท้อนว่า “ทุนนิยมพวกพ้อง” ในบ้านเรายังมีบทบาทและเป็นหลุมดำในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงแม้โลกจะเปลี่ยนไปก็ตาม

……………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img