วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSชำแหละ 10 มาตรการ“ลุงตู่'' ...“เยียวยา”หรือ“ดึงเรตติ้ง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชำแหละ 10 มาตรการ“ลุงตู่” …“เยียวยา”หรือ“ดึงเรตติ้ง”

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 10 มาตรการเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซ ได้ปรับราคาสูงขึ้น เรียกว่า งานนี้ “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เทหมดหน้าตัก

มาตรการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ 10 มาตรการ ปูพรมครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการสังคม พ่อค้า-แม่ค้า คนขับมอเตอร์ไซค์ พนักงานเงินเดือนที่ทำประกันสังคม ตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งเกษตรกรด้วย คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 28 ล้านคน

มองอีกด้านเท่ากับว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีคนจนเกือบๆ ครึ่งประเทศ ในการเยียวยาประชาชน ทำให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ต้องใช้เงินมาอุดหนุนถึง 7 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองเอ็กซ์เรย์ไส้ในทั้ง 10มาตรการกันแบบจะๆ ดูกันชัดๆ ก็ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเหล้าในขวดเก่า แทบไม่มีอะไรใหม่ๆ โดยมีมาตรการเก่าถึง 7 มาตรการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้มให้กับครัวเรือน สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ตกครัวเรือนละ 100 บาท/3 เดือน เดือนละ 30 บาทหรือวันละบาท/ครัวเรือน

มาตรการอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้มให้กับบรรดาหาบเร่แผงลอยจำนวน 5.5 พันคน เดือนละ 100 บาท มาตรการนี้ใช้เงินราว 1.6 ล้านบาทเท่านั้น เป็นมาตรการเดิมของ ปตท. หากจะว่าไปแล้ว “จิ๊บจ๊อย” มาก ทั้งเงินอุดหนุนและจำนวนคนที่ได้ประโยชน์ เนื่องจากแม่ค้าทั่วประเทศ มีนับล้านล้านๆ ราย

หากจะมีมาตรการใหม่ก็คือ มาตรการช่วยค่าน้ำมันเบนซินให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง 1.75 แสนคน เป็นเวลา 3 เดือน-เดือนละ 250 บาท น่าสังเกตว่า มีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ทั้งหมด 20ล้านคน คาดว่าคนขับขี่มอเตอร์ไซด์ 10 ล้านคน น่าจะเป็นคนมีรายได้น้อย แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ที่สำคัญมาตรการนี้ ช่วยเฉพาะผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง 1.75 แสนคน ซึ่งน่าจะน้อยกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก และไม่ได้พูดถึงว่า จะช่วยเหลือ “กลุ่มไรเดอร์” ที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซด์ส่งอาหาร…อย่างไร เพราะกลุ่มนี้น่าจะมีหลายแสนคนเช่นกัน อีกทั้งก็ไม่ได้พูดถึงกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเบนซินในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นรถไถนา หรืออุปกรณ์การเกษตรอื่นๆ

แม้กระทั่งมาตรการคงค่าก๊าซ NGV ให้ประชาชน 19.95 บาทต่อกิโลกรัม ให้แท็กซี่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม การลดเงินจ่ายเงินประกันสังคมให้นายจ้าง-ลูกจ้าง ล้วนเป็นมาตรการเก่า…ไม่ได้ช่วยค่าครองชีพประชาชนมากนัก

ยิ่งเมื่อคลี่ไส้ในให้ละเอียด จะมี 3 มาตรการที่ยัดไส้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เตรียมจะลอยแพประชาชน อย่างมาตรการ “ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร” เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จะตรึงไว้ถึงวันที่ 30 เม.ย.2565 เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 รัฐบาลจะลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล โดยใน 2 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งในส่วนที่เกิน 30 บาทและตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 การลอยตัวค่าน้ำมันดีเซลเต็มรูปแบบตามราคาตลาด

ทั้งที่ประกาศของกระทรวงพลังงานเดิมที่จะตรึงราคาถึงวันที่ 1พฤษภาคม มาตรการใหม่กลับออกมาสวนทาง ที่สำคัญนโยบายรัฐจะช่วย “ครึ่งหนึ่ง” หลังลอยตัวน้ำมันดีเซลนั้น ถ้าเอาราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นราคาน้ำมันดิบตอนนี้ น่าจะอยู่ระหว่าง 105-115 เหรียญต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในไทยจะตก 38-40 บาท แต่รัฐบาลตรึงราคาขายที่ 29.94 บาทต่อลิตร

หากมีการลอยตัวน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 โดยรัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งในราคาที่เกินลิตรละ 30 บาท แต่เมื่อถึงวันที่ 1 ก.ค.2565 หากสงครามยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบอาจจะทะลุเกิน 115 เหรียญต่อบาร์เรล ถึงตอนนั้นประชาชนอาจจะต้องจ่ายค่าน้ำมันดีเซลลิตรละ 38 หรือ 40 บาทไปเต็มๆ

ตรงนี้ต้องบอกว่า รัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด!!!

แต่ควรต้องแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือ เลิกอิงราคาน้ำมัน ณ.โรงกลั่นสิงคโปร์ ที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ไม่ใช่ต้นทุนจริง โดยมีการบวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ซึ่งประชาชนต้องแบกภาระทั้งที่น้ำมันทั้งหมดที่ขายในประเทศล้วนกลั่น ณ.โรงกลั่นในประเทศทั้งสิ้น

ประเด็นต่อมา “ราคาก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม” วันนี้ราคาจริงอยู่ที่ถังละ 463 บาท แต่รัฐบาลขายอยู่ที่ 318 บาท โดยจะมีการปรับขึ้น 3 เดือนรวด ตั้งแต่เดือนเมษายน ขึ้นเป็นถังละ 333 บาท เดือนพฤษภาคม ขึ้นเป็น 348 บาท และเดือนมิถุนายน ขึ้นเป็น 463 บาท หลังจากนั้นต้องลุ้นอีกว่า รัฐบาลจะปรับขึ้นต่อหรือไม่ เพราะรัฐบาลยังต้องอุดหนุนอีกถึงละ 100 บาท เมื่อคิดราคาก๊าซที่ ณ ปัจจุบัน

สุดท้าย มาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟด้วยการ “ลดค่าFT.” 22สตางค์ต่อหน่วยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. ซึ่งได้สูงสุดเดือนละราว 70 บาทต่อครัวเรือน มาตรการนี้ออกแนว “ผิดฝาผิดตัว” อันเนื่องมาจากข้อมูลที่ใช้ในการพิจาณา “ผิดเพี้ยน” จากความเป็นจริงค่อนข้างมาก

น่าสังเกตว่า คนที่ได้ประโยชน์ใช่คนจนหรือไม่ เพราะการใช้ไฟฟ้ามากหรือน้อย ไม่ได้สะท้อนว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือคนจน อย่าลืมว่าสมัยนี้ครอบครัวคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางขึ้นไป เป็นครอบครัวเล็ก ใช้ไฟน้อยไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือน คนกลุ่มนี้คือคนที่ได้ประโยชน์ ส่วนคนยากจนที่อยู่ในชุมชนหรือครอบครัวรุ่นเก่า ที่ฐานะไม่ดี มักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ใช้ไฟมาก เกิน 300 หน่วยขึ้นไป กลายเป็นว่า คนจนใช้ไฟแพงกว่าคนรวย มาตรการนี้จึงไม่ได้ช่วยคนยากจนจริงๆ

จะเห็นว่า 10 มาตรการที่รัฐบาลลุงตู่คลอดออกมา ดูเร่งรีบจนบางเรื่องข้อมูลมั่ว ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่ละมาตรการที่ช่วยเหลือก็จิ๊บจ๊อย ไม่พอยาไส้ แถมเวลาก็สั้นแค่ 3 เดือน งานนี้คงหวังแค่เรียกเรตติ้งที่กำลังดิ่งลงเหว มากกว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามจริงๆ

……………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

……………………………

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img